‘อุบัติเหตุทางถนน’ เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่กลับเกิดขึ้นได้จริงตามภาพข่าว โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนที่จะเติบโตมาเป็นกำลังสำคัญของชาติ เราทุกคนทุกฝ่ายควรต้องช่วยกันปลูกฝังและสร้างเสริมให้พวกเค้ามีทักษะการเดินทางสัญจรได้อย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะเดินทางไปโรงเรียน หรือไปทำกิจกรรมที่ไหน
นักเรียนส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มคนโดยสาร พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือครูอาจารย์ ก็สามารถเติมเทคนิคความรู้ด้านการโดยสารปลอดภัยให้กับพวกเค้าได้ ทั้งในรูปแบบของการซ้อนรถจักรยานยนต์ และการขึ้นรถแท็กซี่ ครั้งนี้พี่เซฟขอนำเสนอ “กฎเหล็กลดเสี่ยงลดเจ็บ” มาฝากกัน
การซ้อนไรเดอร์
- เช็กตรวจดาวรีวิวพี่ไรเดอร์ว่าได้รับคำชมมากมายพอที่จะฝากชีวิตไว้กับเค้าไหม
- สวมหมวกกันน็อก และคาดสายรัดคางให้กระชับ ทั้งผู้ซ้อนและผู้ขับขี่
- ขอร้องพี่ไรเดอร์ใช้ความเร็วตามกฎหมายกำหนดปฏิเสธที่จะซ้อน 3 เพราะอันตรายและผิดกฎหมายจราจร มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
- นั่งท่าคร่อม ไม่นั่งชิดหรือห่างผู้ขับขี่จนเกินไป ตัวตรง ขาตั้งฉาก เข่าแนบกับสะโพกผู้ขับขี่ เท้าวางบนคันพักเท้า
- ไม่สวมชุดรุ่มร่าม หรือถือของพะรุงพะรัง ป้องกันการเสียสมดุลของรถ ผู้ซ้อนสามารถจับเอวผู้ขับขี่เพื่อทรงตัวได้
- ไม่จับบาร์ท้าย เพราะอาจทำให้หงายหลังได้เมื่อรถออกตัวแรง
- ไม่ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ เมื่อรู้สึกง่วง อ่อนเพลีย หรือไม่สบาย
ที่มา: สาระความรู้ เพื่อคนไทยปลอดจากภัยจักรยานยนต์ โครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัย
การขึ้นแท็กซี่
- จะนั่งตรงไหนก็คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง
- ชวนลุงแท็กซี่คนขับ ไม่เล่นโทรศัพท์ขณะขับรถ
- ขอร้องลุงแท็กซี่ใช้ความเร็วตามกฎหมายกำหนด
- เช็กกลิ่นคนขับ กลิ่นที่ว่าคือกลิ่นแอลกอฮอล์ เพราะดื่มไม่ขับ สงสัยหรือไม่มั่นใจ ควรขอลงจากรถเพื่อความปลอดภัย
มีข้อไหนบ้าง? ที่เราทำกันอยู่แล้ว… และมีข้อไหนบ้างที่คุ้นเลยว่ายังไม่เคยทำ “กฎเหล็กลดเสี่ยงลดเจ็บ” คือ ภูมิคุ้มกันความปลอดภัยง่าย ๆ ที่ทำได้จากตัวเราเอง แน่นอนว่าความปลอดภัยส่วนหนึ่งกำหนดได้จากตัวเรา เราต้องดูแลตัวเองให้ปลอดภัย เพราะมีคนที่รักรอเราอยู่ ^_^ ช่วยกัน #แชร์ความเซฟลดความเสี่ยง เสริมสร้างสังคมไทยมีวัฒนธรรมสัญจรที่ปลอดภัยกันนะครับ