เปิดเทอมทีไร เด็ก ๆ ก็ได้เวลาปลดปล่อยตัวเองจากบ้านสู่โรงเรียนที่เปรียบเสมือนโลกกว้าง วิ่งเล่นนอกบ้าน ปั่นจักรยาน ขี่มอเตอร์ไซค์ไปโรงเรียน หรือขึ้นรถโดยสารไปโรงเรียนในทุกวัน แต่สิ่งที่มากับความอิสระและความสุขนั้น ก็คือความเสี่ยงที่มักจะแอบแฝงอย่างแนบเนียน โดยเฉพาะ “อุบัติเหตุบนท้องถนน” ที่เกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าจะเปิดเทอมหรือปิดเทอมอยู่ หากขาดการระวังตัว
วันนี้พี่เซฟจะมาแนะนำ 4 สถานการณ์ที่ควรเตือนถึงอันตราย พร้อมทริกที่ผู้ใหญ่ทุกคนสามารถบอกต่อให้เด็ก ๆ ได้รู้และระวังไว้ก่อนอะไร ๆ จะสายเกินไป
1. วิ่งเล่นเพลิดเพลิน…แต่ต้องหยุดก่อนถึงถนน
สถานการณ์เสี่ยง: เด็กเล็กหรือวัยรุ่นหลายคนมักจะชอบจับกลุ่มวิ่งเล่นกันอยู่เสมอ แต่ถ้าไปวิ่งเล่นใกล้ถนนหรือซอย โดยเฉพาะถนนในหมู่บ้านหรือในชุมชนที่รถยังคงสัญจรอยู่แล้วล่ะก็ อาจเกิดอุบัติเหตุได้แบบไม่ทันตั้งตัว
ขอบเขตภารกิจ:
– ตั้งขอบเขตชัดเจนว่า “เล่นแค่ไหนถึงปลอดภัย” และห้ามวิ่งเล่นไปไกลเกินเขตนั้น
– หลีกเลี่ยงการเล่นบริเวณใกล้ถนน โดยเฉพาะถนนที่ไม่มีทางเท้า
– ผู้ปกครองควรสอดส่อง หรือแนะนำสถานที่เล่นที่ปลอดภัยกว่า เช่น สนามเด็กเล่น หรือสวนสาธารณะ
2. ปั่นจักรยานสนุก รู้รอดปลอดภัย
สถานการณ์เสี่ยง: หลายคนชอบปั่นจักรยานเล่นหรือนัดเพื่อนปั่นออกทริปช่วงปิดหรือเปิดเทอม แต่ถ้าไม่ระวังความปลอดภัย ไม่รู้กฎจราจรพื้นฐาน ก็มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้ถนนร่วมกับรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ที่มีความเร็วสูง
ขอบเขตภารกิจ:
– สวมหมวกนิรภัยทุกครั้งก่อนปั่น
– ปั่นชิดซ้ายของถนนเสมอ
– ซ้อมปั่นให้คล่องก่อน แล้วผู้ปกครองค่อยตัดสินใจอนุญาตให้ออกถนน
– ใช้สัญญาณมือหรือกระดิ่งเมื่อต้องเปลี่ยนเส้นทาง
– ไม่ปั่นจักรยานมือเดียว หรือปั่นจักรยานท่าหวาดเสียวต่าง ๆ
3. ขี่มอเตอร์ไซค์ – จะไปไหน ต้องไม่ประมาท
จากข้อมูลใน “สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนประเทศไทย 2023” โดย กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าเด็กอายุ 15-19 ปี เป็นกลุ่มที่มีอัตราเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงที่สุด และเกือบครึ่งหนึ่งไม่ได้สวมหมวกกันน็อกขณะเกิดอุบัติเหตุ
สถานการณ์เสี่ยง: วัยรุ่นที่เริ่มขี่มอเตอร์ไซค์เอง อาจยังไม่มีใบขับขี่หรือประสบการณ์มากพอ บางคนไม่ใส่หมวกกันน็อก ใช้ความเร็วเกินกำหนด หรือเล่นมือถือขณะขับขี่ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุอย่างมาก
ขอบเขตภารกิจ:
– ต้องมีใบขับขี่ก่อนขับจริง
– ใส่หมวกกันน็อกทุกครั้ง ทั้งคนขับและคนซ้อน
– ขับขี่อย่างมีสติ เคารพกฎจราจร
– ไม่ขี่มอเตอร์ไซค์ด้วยเร็วเกินกำหนด ไม่ขี่แบบพาดโพนเสี่ยงตุย ไม่เล่นมือถือขณะขับขี่
4. นั่งรถโดยสาร – จะนั่งไปไหนก็ต้องรู้ทันความเสี่ยง
สถานการณ์เสี่ยง: นั่งรถตู้ รถบัส หรือขึ้นรถโดยสารไปโรงเรียน ถ้าหากเลือกรถและคนขับไม่ดี ก็อาจเสี่ยงเจอรถขับเร็ว ง่วงหลับใน หรือสภาพรถไม่พร้อมใช้งานได้
ขอบเขตภารกิจ:
– เลือกรถโดยสารที่มีมาตรฐาน และขับโดยคนที่ไว้ใจได้ อย่าทนนั่งรถซิ่ง
– คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง แม้จะนั่งหลัง
– ตั้งใจทุกครั้งที่ขึ้น-ลงรถ อย่าใช้โทรศัพท์ หรือหยอกล้อเล่นกัน เพื่อความปลอดภัย
อุบัติเหตุทางถนนไม่เคยเลือกเหยื่อ และมักเกิดขึ้นในช่วงเสี้ยววินาที ซึ่งอาจกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยก็อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตได้อย่างไม่คาดคิดของเด็ก ๆ และลูกหลานที่เรารัก
ช่วงเปิดเทอมนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู และคนในชุมชนสามารถช่วยกันสอดส่อง เตือนภัยกันไว้ก่อนได้ ถ้าสอนเค้าเยอะ ๆ
ก็คงจะเบื่อเรา ลองเอา 4 ภารกิจนี้เป็นเทคนิค ชวนพวกเค้าออกแบบให้เปิดเทอมนี้สนุกและปลอดภัยไปด้วยกันนะครับ
ที่มา:
– สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนประเทศไทย โดยกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
– ใช้โทรศัพท์ขณะขับขี่ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ, ขับขี่ปลอดภัย by DLT (https://shorturl.asia/lMwSp)
– ใช้รถจักรยานยนต์อย่างปลอดภัย, สสส. (https://www.thaihealth.or.th/?p=255583)
– เคล็ดลับ ขึ้นรถโดยสารให้ปลอดภัย, ขับขี่ปลอดภัย by DLT (https://url.in.th/EVkJk)