ธนาคาร CAR SEAT ความปลอดภัยลูกรักที่ร่วมแบ่งปันกันได้

ธนาคาร CAR SEAT ความปลอดภัยลูกรักที่ร่วมแบ่งปันกันได้
199

เมื่อพูดถึง “ธนาคาร” พี่เซฟคิดว่าหลายคนอาจนึกถึงสถานที่ที่เกี่ยวกับการเงิน แต่รู้หรือไม่ว่า?? มีธนาคารอีกประเภทที่ช่วยปกป้องชีวิตเด็ก ๆ หรือลูกหลานที่รักของเราบนท้องถนน? นี่คือ “ธนาคาร Car Seat” หรือ “Car Seat Bank” โครงการนี้จะช่วยให้ครอบครัวที่ขาดแคลนสามารถเข้าถึงที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กได้ ลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุทางถนน

ที่มาของแนวคิด “ธนาคาร Car Seat” หรือ “Car Seat Bank”

ในหลายประเทศพบว่าครอบครัวจำนวนมากไม่สามารถซื้อที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (Car Seat) ได้เนื่องจากราคาสูง ทำให้เด็ก ๆ ต้องเดินทางโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหากเกิดอุบัติเหตุทางถนน โครงการนี้จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อศึกษาพฤติกรรมและพัฒนารูปแบบการส่งเสริมการใช้ Car Seat ในโรงพยาบาลนำร่อง 6 แห่ง โดยให้ผู้ปกครองสามารถ ยืม Car Seat พร้อมคำแนะนำในการใช้งานอย่างถูกต้อง รวมถึงจะมีการติดตามผลการ Car Seat ให้ผู้ปกครองสามารถ ยืม หรือ รับบริจาค Car Seat ได้ พร้อมคำแนะนำในการใช้งานอย่างถูกต้อง

ธนาคาร Car Seat ทำงานอย่างไร?

  1. รับบริจาค Car Seat โดยครอบครัวที่ไม่ใช้แล้วสามารถนำมาบริจาค
  2. ตรวจสอบมาตรฐาน หากเกิดการบริจาคจะมีการตรวจสอบคุณภาพ ความปลอดภัย และอายุการใช้งานก่อนส่งต่อ
  3. ให้บริการยืม-คืน ทุก ๆ ครอบครัวสามารถยืม Car Seat ไปใช้ และนำกลับมาคืนเมื่อไม่ต้องการ
  4. ให้คำแนะนำ มีผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้เกี่ยวกับการติดตั้งและใช้งานที่ถูกต้อง

ตัวอย่างความสำเร็จจากต่างประเทศ

  • สหรัฐอเมริกา มีโครงการ “Car Seat Loan Program” ที่ร่วมมือกับโรงพยาบาลและองค์กรท้องถิ่น
  • แคนาดา เปิดให้ยืม Car Seat ผ่านศูนย์สุขภาพชุมชนทั่วประเทศ
  • อังกฤษ มีองค์กรช่วยเหลือครอบครัวที่มีรายได้น้อยให้เข้าถึงที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (Car Seat)
ธนาคาร CAR SEAT ความปลอดภัยลูกรักที่ร่วมแบ่งปันกันได้

ไทยเราทำหรือยัง และมีรูปแบบอย่างไร?

ประเทศไทยมีการเปิดตัวโครงการรณรงค์ส่งเสริมการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือ Car Seat “ลูกรอดปลอดภัยที่นั่งนิรภัยอย่ามองข้าม” เมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 ด้วยความร่วมมือของ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

โดยมีการเปิดให้ยืมที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (Car Seat) เพื่อศึกษาพฤติกรรมและพัฒนารูปแบบการส่งเสริมการใช้ Car Seat ในกลุ่มคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่เพิ่งเริ่มมีลูกคนแรก ซึ่งจะมี 6 โรงพยาบาลนำร่อง ได้แก่ สถาบันบำราศนราดูร, โรงพยาบาลสมุทรปราการ, โรงพยาบาลน่าน, โรงพยาบาลบุรีรัมย์, โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และโรงพยาบาลสุโขทัย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับคำแนะนำในการใช้งานอย่างถูกต้อง และจะมีการติดตามผลการ Car Seat

ธนาคาร CAR SEAT ความปลอดภัยลูกรักที่ร่วมแบ่งปันกันได้
ธนาคาร CAR SEAT ความปลอดภัยลูกรักที่ร่วมแบ่งปันกันได้

ทั้งนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ เกิดการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (Car Seat) ช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตในเด็กได้ถึง 70% จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข พบว่า 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2562 – 2566) มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน จำนวน 89,569 คน เฉลี่ย 17,914 คนต่อปี ซึ่งในช่วง 5 ปี ดังกล่าว มีเด็กไทยอายุ 0 – 6 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 1,010 คน โดย 117 คน เป็นการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ เฉลี่ย 24 คนต่อปี และในส่วนของการบาดเจ็บ มีเด็กไทยบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถยนต์และรถกระบะ 8,810 คน เฉลี่ย 1,763 คนต่อปี ซึ่งหากเด็กที่นั่งเบาะหน้ารถยนต์ และไม่ใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (Car Seat) มีโอกาสเสี่ยงต่อการบาดเจ็บรุนแรงสูงกว่าเด็กที่นั่งด้านหลังและใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (Car Seat) ถึง 5 เท่า 

อีกทั้งเป็นการสนับสนุนให้เกิดความพร้อมในการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 ที่กำหนดให้ เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือที่นั่งพิเศษสำหรับเด็ก เพื่อป้องกันอันตราย  

อ่านกันมาถึงตรงนี้แล้ว พี่เซฟคิดว่าครู ผู้ปกครอง หรือท่านผู้บริหารองค์กรทั้งหลาย น่าจะเริ่มได้ไอเดียบ้างแล้ว! เราสามารถเอาแนวทางการทำงานเรื่อง “ธนาคาร Car Seat” มาประยุกต์ใช้ในองค์กรของเราได้ เพื่อให้ประเทศไทยมีมากกว่า 6 โรงพยาบาลนำร่อง เพราะ “ธนาคาร Car Seat” ไม่เพียงช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ครอบครัวเท่านั้น แต่ยังช่วยรักษาชีวิตลูกหลานที่รักบนท้องถนน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากเราทุกคนช่วยกันสนับสนุนการแบ่งปันนี้ ความปลอดภัยของเด็กไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล พร้อมหรือยังที่จะร่วมสร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน เพื่อความปลอดภัยของลูกรัก?  

ที่มา: สสส., https://www.thaihealth.or.th/?p=368170

ติดตามโซเชียลของเราได้ที่

© Copyright 2022 Safe Education Thailand. All rights reserved.