การเดินทางกับลูกเล็กเป็นเรื่องที่เต็มไปด้วยความระมัดระวัง และหนึ่งในสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษก็คือ “ที่นั่งนิรภัย : Car Seat” หลายครอบครัวอาจจะมองข้ามหรือไม่เห็นความจำเป็นของที่นั่งนิรภัย (Car Seat) สำหรับเด็ก แต่ในความเป็นจริง สิ่งนี้กลับมีบทบาทสำคัญมากในการปกป้องลูกรักในกรณีเกิดอุบัติเหตุแบบที่ทุกคนไม่คาดคิด
ที่นั่งนิรภัยถูกออกแบบมาให้รองรับและป้องกันร่างกายของเด็กที่มีขนาดเล็กและบอบบางซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากการถูกกระแทกหรือกระเด็นออกจากรถในกรณีเกิดอุบัติเหตุ การใช้ที่นั่งนิรภัยช่วยลดความเสี่ยงโอกาสเสียชีวิตของเด็กถึง 70% ทำให้เด็กปลอดภัยยิ่งกว่าการใช้เข็มขัดนิรภัยปกติเพียงอย่างเดียว โดยจากสถิติรายงานสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนประเทศไทย 2023 กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า เด็กอายุ 0 – 6 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์เฉลี่ยปีละ 44 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก โดยกรณีอุบัติเหตุที่สร้างความสูญเสียและพบได้บ่อยเกิดจากเด็กที่นั่งเบาะหน้ารถยนต์ไม่ใช้ที่นั่งนิรภัย (Car Seat)
การเลือกที่นั่งนิรภัยควรคำนึงถึงอายุและน้ำหนักของเด็ก โดยที่นั่งจะถูกแบ่งเป็นกลุ่ม ได้แก่
– ที่นั่งหันหน้าไปทางด้านหลังรถ (Rear-Facing Seat) เหมาะสำหรับเด็กแรกเกิด – 2 ปี
– ที่นั่งแบบหันหน้าไปด้านหน้ารถ (Forward-Facing Seat) เหมาะสำหรับเด็กอายุ 2 – 4 ปี
– ที่นั่งเสริม (Booster Seat) ซึ่งใช้เมื่อลูกโตพอและต้องการความสูงเสริมเพื่อใช้เข็มขัดนิรภัยของรถอย่างถูกต้อง เหมาะสำหรับเด็กอายุ 6 – 12 ปี
หมายเหตุ: ควรเลือก“ที่นั่งนิรภัย : Car Seat”ให้เหมาะกับอายุและส่วนสูงของเด็ก
แน่นอนว่า ที่นั่งนิรภัย (Car Seat) คือบทบาทสำคัญของความปลอดภัย แต่หากติดตั้งไม่ถูกต้องก็อาจลดประสิทธิภาพในการป้องกันลง การติดตั้งที่นั่งนิรภัย (Car Seat) ต้องยึดให้แน่นกับเบาะรถยนต์ ตรวจสอบว่าไม่มีช่องว่างหรือการเคลื่อนไหวเกิน 1 นิ้วจากจุดติดตั้ง ทั้งนี้ ควรอ่านคู่มือการติดตั้งและคู่มือรถให้เข้าใจอย่างละเอียด
“เบาะหลัง” คือ ตำแหน่งที่ดีที่สุดในการติดตั้งที่นั่งนิรภัย (Car Seat) สำหรับเด็ก โดยเฉพาะบริเวณกลางของเบาะหลังเป็นจุดที่มีโอกาสเสี่ยงน้อยที่สุดที่จะเกิดแรงกระแทกในกรณีชนด้านข้างหรือด้านหน้า การติดตั้งในตำแหน่งนี้จึงช่วยลดความเสี่ยงได้มากขึ้น แต่หากจำเป็นต้องติดตั้งที่นั่งนิรภัย (Car Seat) บริเวณเบาะหน้า ควรปิดการทำงานของถุงลมนิรภัยด้วย
การใช้ที่นั่งนิรภัย (Car Seat) ไม่ควรมองเป็นเรื่องของผู้ใหญ่เพียงฝ่ายเดียว แต่ควรฝึกฝนให้เด็กได้เรียนรู้การใช้งานที่ถูกต้องด้วย เช่น การคาดสายจากที่นั่งนิรภัย (Car Seat) ให้กระชับ เพื่อไม่ให้เด็กรู้สึกอึดอัด แต่ก็ไม่ควรคาดหลวมจนเกินไปเช่นกัน หรือการพูดคุยสอนให้เด็กเข้าใจว่า การนั่งในที่นั่งนิรภัย (Car Seat) เป็นสิ่งสำคัญและ“ต้องทำเพื่อให้ปลอดภัย” เป็นการสร้างวินัยจนเป็นนิสัยติดตัวไปในอนาคต
ปัจจุบัน กฎหมายในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย มีข้อบังคับให้เด็กต้องใช้ที่นั่งนิรภัย (Car Seat) ขณะโดยสารในรถยนต์ ซึ่งเป็นมาตรการที่ช่วยลดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในอุบัติเหตุอย่างมีประสิทธิภาพ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรศึกษาและปฏิบัติตามกฎหมายเหล่านี้อย่างเคร่งครัด เพื่อประโยชน์สูงสุดของลูก โดยในประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123 ระบุไว้ว่า คนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งในที่นั่งนิรภัย (Car Seat) สำหรับเด็ก หรือนั่งในที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย
การเลือกใช้ที่นั่งนิรภัยให้ลูกไม่ได้เป็นเพียงการปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงความใส่ใจและความรักที่จับต้องได้จากพ่อแม่ ผู้ปกครอง สู่ลูก เพราะที่นั่งนิรภัย (Car Seat) เป็นเกราะป้องกันที่ช่วยให้ลูกรักได้เดินทางอย่างปลอดภัย และทำให้พ่อแม่อุ่นใจในทุกการเดินทาง
ที่มา:
– สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนประเทศไทย 2023, กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
– ราชกิจจานุเบกษา, https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/A/028/T_0005.PD