ดื่มแล้วขับ 1 ใน 3 สาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์

ดื่มแล้วขับ 1 ใน 3 สาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์
616

สถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ในช่วง 7 วันอันตราย หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระหว่างปี 2563-2566 พบว่า มีอัตราการตายจากอุบัติเหตุทางถนนลดลง แต่มีแนวโน้มเกิดอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้น โดยค่าเฉลี่ยของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลดังกล่าวอยู่ที่ 246.5 คน/ปี หรือประมาณ 35 คนต่อวันตลอดช่วง 7 วันอันตราย ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมาจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ใน 3 สาเหตุหลัก ได้แก่ ขับรถเร็ว เมาแล้วขับ และตัดหน้ากระชั้นชิด นำมาสู่การสูญเสียของหลายครอบครัว ในห้วงเวลาแห่งความสุขของปีใหม่ไทย1

ดื่มแล้วขับ 1 ใน 3 สาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์
ดื่มแล้วขับ 1 ใน 3 สาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์

บทความนี้ พี่เซฟขอเจาะลึกในประเด็น “เมาแล้วขับ” หรือ “การดื่มเครื่องดื่มแฮลกอฮอล์แล้วขับขี่” ที่เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่คนไทยหลายคนเดินทางกลับบ้าน ไปพบปะครอบครัว รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เดินทางท่องเที่ยว เล่นน้ำสงกรานต์ ตลอดจนการสังสรรค์ในช่วงหยุดยาว ซึ่งมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเป็นส่วนผสมของการฉลองปีใหม่ไทยอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น เหล้า เบียร์ ไวน์ ค็อกเทล ฯ ที่ช่วยสร้างบรรยากาศและทำให้รู้สึกผ่อนคลาย “ซึ่งการดื่มไม่ใช่ประเด็น หากแต่เป็นการดื่มแล้วขับเนี่ยสิ น่าเป็นห่วง!” เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบประสาทที่อันตรายต่อการขับขี่ ดังนี้2

  1. โฟกัสภาพไม่ได้ ตาเบลอ เห็นภาพซ้อน เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุทางถนน เช่น มองไม่เห็นคนข้ามถนน เฉี่ยวชนกับรถคันอื่น
  2. ตอบสนองเหตุฉุกเฉินช้า สมองสั่งการได้ไม่ทัน ไม่ว่าจะเบรกมือ หรือเบรกเท้า
  3. ตัดสินใจผิดพลาด รวบรวมสมาธิได้ยาก ความสามารถในการรับมือเหตุการณ์เฉพาะหน้าลดลง
  4. รู้สึกมั่นใจเกินเหตุ กล้าบ้าบิ่น นำไปสู่การมีพฤติกรรมขับขี่อันตราย
  5. ง่วงเหงาหาวนอน แอลกอฮอล์ทำให้สมองเฉื่อยชา เสี่ยงหลับในขณะขับขี่

เพื่อให้สงกรานต์นี้เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขอย่างแท้จริง มาร่วมกันลดความเสี่ยงด้วย 3 วิธีง่าย ๆ แต่ได้ผลจริง!

ดื่มแล้วขับ 1 ใน 3 สาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์

1. หา “ฮีโร่ผู้ดูแลพวงมาลัย” ของแก๊ง! ไม่ดื่ม ไม่แตะแอลกอฮอล์

เพื่อนดีมีชัยไปกว่าครึ่ง! ถ้ารู้ตัวว่าจะปาร์ตี้หนัก ให้หา “ฮีโร่ผู้ดูแลพวงมาลัย” หรือคนที่รับหน้าที่ขับรถโดยไม่แตะแอลกอฮอล์เลย
ผู้มีจิตใจมั่นคง แข็งแกร่งดั่งหินผา และเสียสละรักทุกคน วิธีนี้จะช่วยให้ทุกคนถึงบ้านอย่างปลอดภัย และลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุไปได้เยอะ

สร้างชาเลนจ์ปั้นฮีโร่:

  • หมุนเวียนกันเป็นฮีโร่ เช่น วันนี้พี่เซฟขับ พรุ่งนี้พี่รอดขับ
  • ให้รางวัลฮีโร่ เช่น ให้บัตรเติมน้ำมันเป็นของขวัญ หรือเลี้ยงข้าวแสนอร่อย
ดื่มแล้วขับ 1 ใน 3 สาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์

2. เปิด “ตี้ที่บ้านครบวงจร” กิน เล่น เต้น นอน ไม่ต้องเสี่ยงขับขี่ไปไหน

หากเลี่ยงไม่ได้ที่จะดื่ม เปลี่ยนจากการออกไปข้างนอก เป็นการปาร์ตี้ที่บ้าน ก็เป็นทางเลือกที่ดีนะครับ! เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องขับขี่กลับบ้าน ปลอดภัยทั้งตัวเองและเพื่อนๆ

จัดปาร์ตี้ให้ครบวงจร:

  • อาหารให้แน่นครบ 5 หมู่ เตรียมทั้งคาว ทั้งหวาน กินกันยาว ๆ
  • เครื่องดื่มครบ ทั้งสายเมาทิพย์ และสายแฮง
  • เพลง ถังน้ำ สายยาง ขับ ปืนฉีดน้ำ ให้พร้อมสาดน้ำเต็มที่
  • ที่นอนพร้อม จัดโซนสำหรับคนที่ต้องการพักผ่อน กรึมแล้วนอนไม่ต้องขับขี่จ้า

จากสถิติพบว่า ช่วงสงกรานต์มีอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับรถจักรยานยนต์สูงสุดถึง 86.88% และส่วนใหญ่อยู่ในช่วงเวลาหลังเที่ยงคืนถึงตี 4 ดังนั้น หากดื่มแล้วพักผ่อนที่บ้านแทนที่จะออกไปขับรถ ก็สามารถลดความเสี่ยงได้มาก

ดื่มแล้วขับ 1 ใน 3 สาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์

3. “ชีเสิร์ฟตัวเอง” ด้วยการเรียกรถมารับ จ่ายนิดเดียว แต่เซฟชีวิต

บริการเรียกรถผ่านแอปฯ คือทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุด! แม้ว่าหลายคนจะคิดว่า “ขับกลับเองได้นิดเดียว” หรือ “เมาไม่มาก” แต่แค่ปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ก็เพิ่มโอกาสเกิดอุบัติเหตุหลายเท่าตัวแล้วนะครับ

ทางเลือกที่ปลอดภัย:

  • เรียกแท็กซี่ หรือ บริการรถรับ-ส่ง เช่น Grab, Bolt, Robinhood
  • ใช้บริการรถสาธารณะ เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้า
  • ฝากกุญแจไว้กับเพื่อน ถ้ารู้ตัวว่าต้องดื่ม

จากข้อมูลของ มูลนิธิไทยโรดส์ พบว่าการเมาแล้วขับ เพิ่มโอกาสเสียชีวิตถึง 17 เท่า เมื่อเทียบกับการขับขี่ปกติ ดังนั้น เลือกจ่ายค่ารถหลักร้อย ดีกว่าเสี่ยงค่ารักษาพยาบาลหลักแสนน่าจะดีกว่าแน่นอนครับ

แนะนำ 3 วิธีให้สงกรานต์นี้สนุกแบบปลอดภัยแล้ว พี่เซฟขอต่อกันอีกนิด หากดื่มแล้วขับขี่ จะพบกับบทลงโทษตามกฎหมายอย่างไรบ้าง2-3

– ผู้ขับขี่อายุต่ำกว่า 20 ปี : มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถือว่าผิดกฎหมาย

– ผู้ขับขี่เป็นบุคคลทั่วไป : มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถือว่าผิดกฎหมาย

– ปฏิเสธการเป่า ฝ่าฝืนคำสั่งทดสอบของเจ้าพนักงาน : ปรับครั้งละไม่เกิน 1,000 บาท

– ปฏิเสธการเป่า และได้รับการสันนิษฐานว่าเมาแล้วขับขี่ : ปรับ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมพักใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

– กรณีเมาแล้วขับ ทำผิดครั้งแรก : ปรับ 5,000 – 20,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และพักใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

– กรณีเมาแล้วขับ ทำผิดซ้ำ (ภายใน 2 ปี) : ปรับ 50,000 – 100,000 บาท และจำคุกไม่เกิน 2 ปี พร้อมพักใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

– เมาแล้วขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายต่อร่างกายหรือจิตใจ : ปรับ 20,000 – 100,000 บาท และจำคุก 1-5 ปี  พร้อมถูกพักใบขับขี่ไม่ต่ำกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

– เมาแล้วขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นบาดเจ็บสาหัส : ปรับ 40,000 – 120,000 บาท และจำคุก 2 – 6 ปี พร้อมถูกพักใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

– เมาแล้วขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต : ปรับ 60,000 – 200,000 บาท และจำคุก 3 -10 ปี พร้อมเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

– ผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่นั่งมาด้วย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถขณะที่รถวิ่งอยู่ : ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ4

หมายเหตุ : หากตรวจพบว่าผู้ขับขี่มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ บริษัทประกันจะไม่คุ้มครอง แต่จะสำรองจ่ายให้ผู้เสียหาย แล้วเรียกเก็บจากผู้ขับขี่ที่กระทำผิด

ที่มา:

1รายงานสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย 2565-2566, มูลนิธิไทยโรดส์และศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย  

2สสส., แอลกอฮอล์กับสมอง, https://bit.ly/41IbzlJ, “ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย” ปีใหม่ 2568 ย้ำ ดื่มไม่ขับ ไม่ขับเร็ว มุ่งลดเจ็บ-ตาย ช่วงเทศกาล, https://www.thaihealth.or.th/?p=377275  

3สำนักงานกิจการยุติธรรม, https://justicechannel.org/read/new-laws/drunkdriving2024?utm_source=chatgpt.com&cn-reloaded=1   

4บจก. กฎหมายและธุรกิจ อินเตอร์ คอนซัลแตนท์, https://bit.ly/41FGz5O

ติดตามโซเชียลของเราได้ที่

© Copyright 2022 Safe Education Thailand. All rights reserved.