ขับขี่ศึกษาเปิดคาบเรียนวิชาหลัก ด้วยการเรียนรู้เรื่อง Road Safety Literacy จากต่างแดน อย่างประเทศฟินแลนด์
ประเทศฟินแลนด์ขึ้นชื่อเรื่องการดูแลความปลอดภัยทางท้องถนนอย่างจริงจัง เพราะในอดีต ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 มีสถิติการเสียชีวิตทางท้องถนนถึง 1,200 รายต่อปี ทำให้รัฐบาลฟินแลนด์ต้องตั้งคณะกรรมาธิการรัฐสภาว่าด้วยการจราจร และองค์กรอย่างสภาด้านความปลอดภัยทางถนนเพื่อทำงานเกี่ยวกับปัญหานี้ รวมถึงการทำงานด้านการศึกษาด้วย
หลังจากนั้นฟินแลนด์ได้เริ่มโครงการด้านความปลอดภัยทางถนน โดยออกแบบให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เน้นการเรียนรู้เชิงปฏิบัติ การมีส่วนร่วม และการเรียนรู้ผ่านการเล่น ซึ่งผู้เรียนที่ว่าก็คือ เด็ก ๆ นั่นเอง เพื่อให้พวกเค้าได้เรียนรู้และเข้าใจกฎจราจรตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อสร้างนิสัยที่ดีและป้องกันอุบัติเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้เรียนอีกกลุ่ม นั่นก็คือ กลุ่มพ่อแม่ ผู้ปกครอง และคุณครู เรามาดูกันว่า การร่วมสร้าง “ถนนปลอดภัย” ของฟินแลนด์เป็นอย่างไรบ้าง
เพื่อให้ตัวผู้ปกครองเองมีความรู้ความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมเรื่องความปลอดภัยทางถนนในอนาคตให้กับลูกของตน แต่แน่นอนแหละ!! ว่างบประมาณก็คงมีไม่มากพอที่จะให้ผู้ปกครองทุกคนในประเทศได้เรียนรู้สิ่งนี้ จึงเกิดแนวคิดความร่วมมือกับคลินิกและโรงพยาบาลคลอดบุตร เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่ต้องให้ข้อมูลการคลอดบุตรได้ให้ความรู้ และเครื่องมือเกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนนควบคู่กันไปด้วย มีทั้งหลักสูตรอบรมในหัวข้อต่าง ๆ เช่น
– ลักษณะของเด็กเล็กที่เป็นผู้โดยสารและการชนกัน
– การขนส่งเด็กด้วยรถยนต์อย่างปลอดภัย: หลักการและปัจจัยเสี่ยง
– การใช้เบาะนิรภัยสำหรับเด็กอย่างถูกต้อง: ทำอย่างไรให้ถูกต้อง
– กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งเด็ก
และยังมีช่องทางความรู้ในรูปแบบวิดีโอเพื่อให้เอาไปใช้เรียนรู้ และสอนลูกที่บ้านได้ อย่างช่องยูทูปที่ชื่อว่า Liikenneturva – Välitä, muista – ennakoi
สามารถกดเข้าไปดูได้ที่ www.youtube.com/user/Liikenneturva/videos
เป็นโครงการที่จัดทำหนังสือแนะนำและสมุดแบบฝึกหัดสำหรับผู้ปกครอง โดยมีเนื้อหาเรื่องการเรียนรู้การเดินทางของเด็กในแต่ละช่วงวัย เพื่อให้ผู้ปกครองใช้สอนลูก ๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมจราจร เช่น
– ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับความสามารถของเด็กในการเรียนรู้พฤติกรรมจราจร
– คำแนะนำที่ชัดเจนในการส่งเสริมความปลอดภัยทางถนนขั้นพื้นฐาน
– ตัวอย่างการปฏิบัติตนอย่างปลอดภัยในสถานการณ์จราจรจริง
– เรื่องราวจากสถานการณ์การจราจรในแต่ละพื้นที่
– ลักษณะของพื้นที่เล่นที่ปลอดภัย
– แบบฝึกหัดลายเส้นวาดภาพอย่างง่ายพร้อมงานระบุสิ่งของและการสังเกต
– แบบฝึกหัดกิจกรรมเน้นการใช้หมวกกันน็อคจักรยานอย่างถูกต้อง
จัดให้มีการทำกิจกรรมอบรมให้ความรู้กับครูทั่วประเทศ โดยมีเนื้อหาที่หลากหลายเช่น
– การพูดคุยถึงทัศนคติในการจราจรและสาเหตุของการเสียชีวิตจากการจราจรของเด็กและวัยรุ่น
– การจำลองสถานการณ์จริงของสังคม ในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ “ฉันควรนั่งรถที่คนเมาแล้วขับไหม?”
– การสาธิตการใช้งานจริงของแผ่นสะท้อนแสงสำหรับคนเดินถนนและหมวกกันน็อคจักรยาน
– การวิเคราะห์ถึงสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุในชีวิตจริง
ด้วยจำนวนของผู้ขับขี่จักรยานยนต์มีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น ทางฟินแลนด์จึงมีข้อกำหนดให้ผู้ที่ขับขี่จำเป็นต้องผ่านการอบรม ทฤษฎี 6 ชั่วโมง: เพื่อเรียนรู้ความเสี่ยงและมาตรการรับมือของผู้ขับขี่, ทำความรู้จักกับจักรยานยนต์, อุปกรณ์ที่ผู้ขับขี่ต้องมี เมื่อเรียนเสร็จก็ยังมีการทดสอบผ่านข้อมูล และปฏิบัติด้วย
– เกม “ข้ามถนนอย่างปลอดภัย”
ด้วยการใช้ภาพหรือโมเดลถนน รถยนต์ และคนเดินถนน ให้เด็ก ๆ ได้ลองวางแผนการข้ามถนนด้วยตัวเอง โดยเรียนรู้เรื่องสัญญาณไฟจราจร และการสังเกตสภาพแวดล้อม
– สร้างเมืองจำลอง
ให้เด็ก ๆ ได้ร่วมกันสร้างเมืองจำลอง โดยใช้กระดาษแข็ง ดินน้ำมัน หรือวัสดุเหลือใช้ เพื่อสร้างถนน บ้าน อาคาร
และสัญญาณจราจร จากนั้นก็ให้พวกเค้าได้เล่นบทบาทสมมติ เป็นคนเดินถนน คนขับรถ หรือตำรวจจราจร เพื่อฝึกฝนการใช้ถนนอย่างปลอดภัย และเรียนรู้กฎจราจรในสถานการณ์จริงจำลอง
– การบ้านสร้างสรรค์
ให้เด็ก ๆ วาดภาพ พร้อมเขียนเรื่องราว หรือสร้างโมเดลเกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนน เพื่อแสดงความเข้าใจต่าง ๆ
เช่น วาดภาพการข้ามถนนอย่างปลอดภัย หรือเขียนเรื่องราวถ้าเราต้องช่วยเหลือเพื่อนที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนต้องทำอย่างไร
– การเยี่ยมชมสถานที่จริง
ด้วยการพาเด็ก ๆ ไปเยี่ยมชมสถานที่จริง เช่น สี่แยกที่มีสัญญาณไฟจราจร หรือสถานีตำรวจจราจร จะช่วยให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้และเข้าใจกฎจราจรได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น และยังสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่น่าจดจำได้อีกด้วย
เป็นไงครับ…นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นนะครับที่พี่เซฟ เอามาเล่าให้ทุกคนได้อ่านและศึกษากันดู เดี๋ยวจะเปิดคาบสอบวิชาหลักกันต่ออีกในครั้งหน้านะครับ
แต่โดยภาพรวมนะครับ เราจะเห็นว่า ฟินแลนด์เองประสบความสำเร็จกับการรณรงค์ขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนนได้ดี ไม่ใช่เพียงเพราะนโยบายของรัฐบาล หรือหน่วยงานที่ดูแลเท่านั้น แต่เกิดความสำเร็จนี้ได้ จากความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนที่มองว่าทุกคนล้วนมีความเกี่ยวข้อง และมีความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยทางถนนนี้ร่วมกันได้
เรียกว่าเป็นการร่วมสร้างความปลอดภัยทางถนนของแทร่เลยนะครับ พี่เซฟก็เชื่อว่าประเทศไทยเราเองก็จะเดินหน้าช่วยกันลดอุบัติเหตุทางถนนได้เช่นกัน ^_^
ที่มา:
– SWOV (2024). Traffic education. SWOV fact sheet, March 2024. SWOV, The Hague., Institute for road safety research,
https://swov.nl/en/fact-sheet/traffic-education
– Report: Traffic Education and Information Campaigns in Finland, https://www.iatss.or.jp/en/entry_img/FY2014_Report_FI_En.pdf
– สอนตั้งแต่เกิด-มัธยมศึกษาวิชาปลอดภัยในห้องเรียนฟินแลนด์, กสศ., www.eef.or.th/article-road-safe-250122/