แบบฝึกหัด “Safety Journey Log” ภารกิจติดตามสังเกตการเดินทางของตัวเราตลอด 7 วัน

แบบฝึกหัด “Safety Journey Log” ภารกิจติดตามสังเกตการเดินทางของตัวเราตลอด 7 วัน
402

“ขับขี่ปลอดภัยสร้างได้” ไม่ต่างอะไรกับการฝึกให้ตัวเองตื่นเช้า เก็บที่นอน ดื่มน้ำให้ครบ 8 แก้วต่อวัน ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ ไม่เล่นโทรศัพท์ก่อนนอน หลับพักผ่อนให้เพียงพอ ฯ บางคนอาจนึกในใจว่าใครจะไปทำได้! พี่เซฟอยากบอกว่า หากเราตั้งใจ เชื่อว่าทำได้ และหาวิธีเริ่มต้นง่าย ๆ แล้วทำให้ต่อเนื่อง รับรองทุกคนทำได้อย่างแน่นอน!

เพื่อให้เปิดเทอมนี้ครูได้มีการบ้านให้นักเรียนได้เรียนรู้การฝึกขับขี่หรือเดินทางแบบต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัย พี่เซฟขอแจกแบบฝึกหัดเป็นตัวช่วยที่คุณครูสามารถนำไปใช้จัดการเรียนการสอนได้เลย โดยใช้แบบฝึกหัดนี้ ให้นักเรียนเริ่มต้นติดตามและหาทางปรับการเดินทางให้เซฟตี้ขึ้นด้วยตัวของพวกเค้าเอง ว่าแต่จะมีแนวทางการใช้แบบฝึกหัดอย่างไร ไปดูกัน!

กลุ่มผู้เรียน : ป.4-6, ม.ต้น, ม.ปลาย

อุปกรณ์ที่ใช้ : ดินสอหรือปากกา, แบบฝึกหัดดาวน์โหลดได้ที่ https://forms.gle/1e58UgZkGSU7n9K49

แนวทางการเรียนการสอน

ขั้นตอนที่ 1 : ชวนถาม ชวนคุย สิ่งที่นักเรียนทำได้ดี

ก่อนเข้าสู่การเรียนรู้เรื่องการสร้างเสริมพฤติกรรมขับขี่ปลอดภัย คุณครูลองชวนนักเรียนทบทวนถึงสิ่งที่พวกเค้าทำได้ดี เช่น ร้องเพลงเก่ง เต้นเก่ง ทำอาหารเก่ง เล่นฟุตบอลเก่ง หรืออื่น ๆ เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นว่า สิ่งที่ทำได้ดีนั้นเป็นผลลัพธ์ที่มาจากการฝึกฝน เก็บเล็กผสมน้อยอย่างต่อเนื่อง ทำให้พวกเราสามารถทำสิ่งนั้นได้ดี ไม่ต่างอะไรกับการมีนิสัยขับขี่ที่ปลอดภัย ก็มาจากการขับขี่หรือการเดินทางในรูปแบบต่าง ๆ ให้ปลอดภัยในทุกวัน

ขั้นตอนที่ 2 : นักเรียนลองทำภารกิจติดตามสังเกตการเดินทางของตัวเราตลอด 7 วัน

เมื่อนักเรียนเข้าใจแล้วว่า การทำอะไรได้ดีมาจากการฝึกฝน ก็สามารถเข้าสู่เนื้อหาของแบบฝึกหัดนี้ได้เลย โดยใจความสำคัญของแบบฝึกหัดนี้คือการ “สังเกต – เรียนรู้ – เติบโต” การเดินทางรายวัน โดยมีภารกิจให้ลองทำอย่างต่อเนื่อง 7 วัน หรือทุกวันภายในหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งคุณครูอาจให้นักเรียนทบทวนการเดินทางของเมื่อวานเพื่อทดลองทำแบบฝึกหัดไปพร้อม ๆ กันในห้องเรียน แล้วที่เหลืออีก 6 วันให้ไปเป็นการบ้านได้เลย ดูตัวอย่างแบบฟอร์มแบบฝึกหัดตามรูปด้านล่างนี้

แบบฝึกหัด “Safety Journey Log” ภารกิจติดตามสังเกตการเดินทางของตัวเราตลอด 7 วัน

ขั้นตอนที่ 3 : แบ่งปันผลลัพธ์

เมื่อนักเรียนทุกคนทำภารกิจเสร็จแล้ว ก็จะเข้าสู่การแบ่งปันข้อมูลที่เกิดขึ้น และสรุปบทเรียนที่ได้จากการทำแบบฝึกหัด ไม่ว่าจะเป็น “สิ่งใหม่ที่ได้เรียนรู้” “พฤติกรรมใหม่ที่ช่วยให้การเดินทางปลอดภัยขึ้น” “สิ่งที่ทำได้ดีขึ้น” “สิ่งที่ทำได้ดีอยู่แล้ว และจะทำต่อไป” “1 เรื่องที่อยากพัฒนา” เป็นต้น เมื่อแต่ละคนแบ่งปันกันอย่างหอมปากหอมคอแล้ว คุณครูสามารถสรุปประเด็นและหัวใจสำคัญจากข้อมูลที่ได้จากนักเรียนทุกคน ก่อนแยกย้ายไปทำภารกิจเรียนรู้เรื่องอื่นต่อไป

พี่เซฟเชื่อว่า ภารกิจนี้ จะเป็นการสร้างการสังเกต การเรียนรู้ นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้นักเรียนห่างไกลความเสี่ยง และอยู่ใกล้ความเซฟเรื่องความปลอดภัยทางถนนมากขึ้นอย่าแน่นอน ที่สำคัญอาจเป็นจุดเปลี่ยน จุดเริ่มต้นสำคัญ ในการสร้างวินัยจราจรให้กับพวกเค้าได้เลย 

สนับสนุนโดย

บริหารจัดการโดย

© Copyright 2022 Safe Education Thailand. All rights reserved.