ระยะอันตรายทางถนน คือ ตั้งแต่จุดสตาร์ทหรือรัศมีจากบ้านไม่เกิน 5 กิโลเมตร เพราะจากข้อมูลสถิติของห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลขอนแก่น พบว่ากว่า 73% ของผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตมาจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่เกิดขึ้นในระยะนี้* มักจะเกิดที่ถนนภายในชุมชนซึ่งเป็นถนนสายรองมากกว่าสายหลัก หรือการป้องกันที่ลดลงนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็น การขี่รถโดยประมาท การขาดประเมินความเสี่ยง ไม่สวมหมวกกันน็อกทั้งคนขี่และคนซ้อน เพราะคิดว่า “ไปใกล้ ๆ แค่นี้เอง”, “ถนนแถวนี้ขับบ่อย รู้ทุกจุด”, “ไม่ได้ขี่ออกถนนใหญ่” ความคิดที่คิดว่าไม่เป็นไร อาจพาชีวิตไปสู่เส้นทางมรณะได้เลย
อย่าเพิ่งเชื่อพี่เซฟ เพราะอยากให้น้อง ๆ ทุกคนได้ทำภารกิจแปลงร่างเป็น “นักสืบจราจร” เพื่อออกสำรวจข้อมูลไขคดีอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นแถวบ้านหรือแถวโรงเรียน ผ่านการสืบค้นข้อมูล หรือสัมภาษณ์กับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อไขคดีและหาทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ ป้องกันตัวเราและคนรอบข้างที่ขับขี่ผ่านเส้นทางแถวนั้นได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น
กลุ่มผู้เรียน : ม.ปลาย หรือ เทียบเท่า ขึ้นไป
อุปกรณ์ที่ใช้ : ดินสอหรือปากกา, แบบฝึกหัดดาวน์โหลดได้ที่ https://forms.gle/R5hWrR4M8AC942QCA
แนวทางการเรียนการสอน
ขั้นตอนที่ 1 : ชวนนึก
ก่อนเข้าสู่การเรียนรู้ผ่านแบบฝึกหัดนี้ คุณครูลองชวนนักเรียนนึกถึงการ์ตูนหรือหนังแนวสืบสวนสอบสวน เช่น “ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน” ที่เด็ก ๆ หลายคนน่าจะรู้จักกันดี แล้วชวนให้พวกเค้านึกต่อว่า โคนันที่เป็นนักสืบจิ๋ว เค้าต้องทำอะไรบ้างเพื่อไขคดีปริศนาคดีที่เกิดขึ้น พอพวกเค้าอินไปกับตัวละครที่เป็นนักสืบแล้ว คุณครูก็ชวนเข้าสู่เรื่องแบบฝึกหัด “Detective SAFE” นักสืบจราจร ไขคดีทางถนน ต่อได้เลย ที่จะชวนนักเรียนในห้องลองมาเป็นนักสืบกัน
ขั้นตอนที่ 2 : ชวนทำ
- แบ่งกลุ่ม: แบบฝึกหัดนี้จะให้ทำเป็น “งานกลุ่ม” อย่างน้อย 3-4 คน โดยก่อนลงไปสืบให้แบ่งบทบาทหน้าที่กันให้ชัดเจน เช่น คนหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต คนสัมภาษณ์ คนบันทึกข้อมูล คนถ่ายรูปหรือหารูปประกอบ
- อธิบายแบบฝึกหัด: ให้นักเรียนเข้าใจถึง หัวข้อ หรือ องค์ประกอบ ทั้งหมดบนแบบฝึกหัด ที่พวกเค้าจะต้องออกไปหาข้อมูลตามตัวอย่างแบบฝึกหัดด้านล่างนี้ (พร้อมนัดหมายวันและเวลาส่งแบบฝึกหัด)
- วางแผน: ใช้เวลาในห้องเรียน ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มวางแผนการสืบค้นไขดคีทางถนน ไม่ว่าจะเป็น การค้นหาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใกล้บ้านหรือใกล้โรงเรียนระยะไม่เกินรัศมี 5 กิโลเมตร คนที่จะไปสอบถามข้อมูลเป็นใคร วันและเวลาที่ตกลงจะไปหาข้อมูลด้วยกัน การวางแผนเดินทางไปสืบค้นได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้คุณครูสามารถเตรียมกรณีศึกษาอย่างน้อย 5 กรณี เพื่ออำนวยการเรียนรู้ให้นักเรียนไปสืบค้นได้
- สืบจริง: ถึงเวลาให้นักเรียนลงพื้นที่จริงแล้ว ออกไปสำรวจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมบันทึกข้อมูลลงในแบบฝึกหัดให้ครบก่อนนำมาส่งครูตามวันและเวลาที่กำหนด
ขั้นตอนที่ 3 : ชวนแชร์
เมื่อนักเรียนส่งแบบฝึกหัดกันเรียบร้อยแล้ว และถึงเวลาที่ได้กลับมาพบกันอีกครั้ง ให้นักเรียนออกมาเล่าถึงประสบการณ์และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการออกไปสืบค้นข้อมูล ไขคดีทางถนน รวมถึงแนวทางป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ หากไม่มีนักเรียนคนไหนออกมา คุณครูอาจเลือกกลุ่มที่ทำแบบฝึกหัดได้น่าสนใจออกมาแชร์ และชวนนักเรียนทุกคนในห้องเรียนรู้ไปพร้อมกัน
เป็นอย่างไรกับบ้างครับ ลองดูแบบฝึกหัดตัวนี้แล้ว อยากชวนนักเรียนลองทำดูกันเลยไหมครับ พี่เซฟอยากบอกว่า แบบฝึกหัดนี้ คุณครูสามารถประยุกต์ใช้เป็นกิจกรรมเรียนรู้เรื่องขับขี่ปลอดภัยให้กับเหล่านักเรียนได้เลย และหากลองทำแล้วได้ผลอย่างไร อย่าลืมนำมาแบ่งปันให้พี่เซฟได้ชื่นใจไปด้วยน้า ^_^
ที่มา:
*ชุดความรู้การจัดการพฤติกรมเสี่ยง จากการไม่สวมหมวกนิรภัยในระยะใกล้บ้าน, ศวปถ. (หน้า 3) https://www.roadsafetythai.org/edoc/doc_20241111162143.pdf