การตอบสนองของผู้ขับขี่เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ความเสี่ยงทางถนน ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของแค่การควบคุมยานพาหนะเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังอาศัย การสังเกตผู้ร่วมใช้ถนนควบคู่ไปด้วย การเตรียมตัว และการรู้วิธีปฏิบัติในสถานการณ์ระหว่างรถของเรากับผู้ร่วมใช้ถนนอื่น ๆ จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ทุกการเดินทางปลอดภัยยิ่งขึ้น วันนี้พี่เซฟจะชวนทุกคนมาดูกันว่า เมื่อเจอเข้ากับสถานการณ์ความเสี่ยงทางถนน พวกเราควรตอบสนองกันอย่างไร
คนเดินเท้าสามารถพบได้ในหลายสถานที่ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ชุมชนที่มีผู้คนอยู่อย่างหนาแน่น เช่น ศูนย์การค้า ตลาด โรงเรียน ป้ายรถเมล์ และทางแยก สิ่งที่ผู้ขับขี่อย่างเราต้องทำคือ การมองสังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัว โดยเฉพาะทางเท้าสองข้างทาง และรวมไปถึงรถที่จอดอยู่ตามข้างทางด้วย เนื่องจากผู้ขับขี่จะคาดเดาพฤติกรรมและทิศทางของคนเดินเท้าได้ยากขึ้น เช่น อยู่ ๆ มีเด็กนักเรียนวิ่งออกมาเล่นกันข้างถนน ผู้สูงอายุเดินข้ามถนนผ่านหน้ารถที่จอดอยู่ข้างทางที่เป็นจุดอับจุดบอด และนั่นคือความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุได้
อีกหนึ่งคำแนะนำเวลาผู้ขับขี่ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์แบบนี้อีกข้อคือ การพยายามสบตากับคนข้ามถนน เพื่อให้แน่ใจว่าเขาเห็นรถของเราขณะข้ามถนนแน่นอน หรือในกรณีที่คนเดินเท้าไม่เห็นเรา สามารถเคาะแตรเบา ๆ เพื่อเป็นการเตือนก็ได้เช่นกัน แต่ถ้าสถานการณ์มีความยุ่งยากกว่าเดิม เช่น ต้องขับผ่านบริเวณที่มีคนพลุกพล่าน ฝนตก หรือ เป็นเวลากลางคืน ควรชะลอรถทุกครั้งที่ต้องขับผ่านพื้นที่เหล่านี้ เพื่อที่จะได้มีจังหวะหยุดรถเสมอ หากมีสถานการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น
นักปั่นจักรยานมักจะใช้ถนน ทางเท้า และทางจักรยานเพื่อสัญจรอยู่เสมอ โดยทั่วไปผู้ใช้จักรยานจะขับขี่ข้างทางไปยังทางเท้า ทางเท้าไปยังถนน แต่บางครั้งก็อาจขี่ข้ามถนนในช่องจราจรทิศทางตรงกันข้ามไปยังทางเท้าอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ขับขี่อย่างเราต้องระมัดระวังให้มาก
ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ผู้ขับขี่ควรเว้นพื้นที่รอบตัวรถเอาไว้ ให้เพียงพอแก่นักปั่นจักรยานในการใช้ถนน เมื่อรถของเราเข้าใกล้ พยายามสบตากับนักปั่นจักรยานไว้ เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาได้เห็นรถของเรา หรือจะเคาะแตรเบา ๆ เป็นการเตือนได้ หากผู้ขับขี่คิดว่าพวกเขามองไม่เห็นรถของเรา
รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่มองเห็นได้ยากบนถนน เพราะมีขนาดเล็กกว่ารถยนต์มากและมีความคล่องตัวสูง ทำให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่มักขี่ผ่านช่องว่างเล็ก ๆ ในกระแสจราจร และสามารถแชร์ช่องจราจรกับรถคันอื่น ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้รถจักรยานยนต์มักจะอยู่ในจุดอับจุดบอดของยานพาหนะคันอื่น ๆ เสี่ยงต่อการอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันได้ ดังนั้นขณะขับขี่ ควรตรวจสอบจุดบอดรถของเราอย่างกระจกข้างและกระจกหลังให้ดีเสมอ 8-12 วินาที เว้นระยะห่างด้านข้างรถของเรากับรถคันอื่นอย่างน้อย 1 เมตร เปิดสัญญาณไฟเลี้ยวล่วงหน้าก่อนจะเปลี่ยนช่องทางจราจร เพื่อความปลอดภัยทั้งต่อตัวเราและผู้ใช้รถจักรยานยนต์
รถบรรทุกขนาดใหญ่และรถบัสโดยสาร แม้ว่าจะเป็นยานพาหนะที่สังเกตได้ง่ายที่สุดบนท้องถนน แต่ปัญหาของรถขนาดใหญ่มักอยู่ที่จุดอับจุดบอดของรถ ที่อาจทำให้มองไม่เห็นเพื่อนผู้ใช้รถใช้ถนนได้ ผู้ขับขี่ควรหลีกเลี่ยงการขับขนานรถบรรทุกเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ ในกรณีที่ถนนมีหลายช่องทางจราจร แล้วผู้ขับขี่ต้องการจะแซง ควรตรวจเช็กเลนฝั่งตรงข้ามข้างหน้าให้ปลอดภัย ไม่มีรถขับสวนมา แล้วค่อยแซงผ่าน นอกจากนี้ เมื่อรถขนาดใหญ่ต้องการเปลี่ยนช่องจราจรหรือเลี้ยวรถ หากเราเป็นคนขับตามหลังรถกลุ่มนี้ จำเป็นต้องเว้นระยะห่างในการขับตามให้มากขึ้น เพื่อให้สามารถมองเห็นถนนบริเวณโดยรอบได้ หรือถ้ารถขนาดใหญ่เหล่านี้กำลังทำการเลี้ยว อย่าพยายามเข้าไปขับแทรกหรือแซงรถบรรทุกขณะเลี้ยว ให้รักษาระยะห่างเอาไว้เพื่อความปลอดภัยจะดีที่สุด
การตอบสนองและปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุไม่ใช่แค่เรื่องของทักษะการขับขี่เพียงอย่างเดียว แต่คือการสังเกตเพื่อนร่วมทางของเรา ด้วยความมีสติ รู้ตัว และเตรียมพร้อมตลอดเวลา การมองเห็นล่วงหน้า การรักษาระยะห่าง และการควบคุมรถอย่างถูกวิธีคือกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ใช้รถใช้ถนนปลอดภัย เพราะการขับขี่อย่างมีสติจะสร้างการขับขี่ที่ปลอดภัยเสมอ
ที่มา:
– ผู้เริ่มใช้ถนน, คู่มือเพื่อการขับขี่ที่ปลอดภัย การคาดการณ์อุบัติเหตุ (Hazard Perception Training), หน้า 73-78
– ระยะห่างด้านข้างรถ 1 เมตร, คู่มือเพื่อการขับขี่ที่ปลอดภัย การคาดการณ์อุบัติเหตุ (Hazard Perception Training), หน้า 18
– ตรวจสอบกระจกข้างและหลัก ทุก ๆ 8-12 วินาที, คู่มือเพื่อการขับขี่ที่ปลอดภัย การคาดการณ์อุบัติเหตุ (Hazard Perception Training), หน้า 33