“เครื่องหมายจราจร” สื่อกลางสำคัญช่วยให้ผู้ใช้รถปฏิบัติตามกฎจราจรได้อย่างถูกต้อง และช่วยลดอุบัติเหตุทางถนนที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเราหรือบุคคลอันเป็นที่รักได้ ดังนั้นการขับขี่ให้ปลอดภัย ไม่เพียงความสามารถในการดูถนนหนทาง คาดการณ์ความเสี่ยงให้ดีแล้ว เราควรสังเกตเครื่องหมายจราจรข้างทางหรือบนพื้นถนน และปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้องได้อีกด้วย
แบบฝึกหัดนี้ จะเป็นเครื่องมือให้ครูเตรียมความพร้อมเรื่องความปลอดภัยทางถนนให้กับนักเรียน ในเรื่องของ “เครื่องหมายจราจร” ที่มีอยู่มากมายบนท้องถนน แต่ช่วยจำแนกให้พวกเค้าเริ่มต้นเรียนรู้ได้ไม่ยากด้วย 4 ประเภทเครื่องหมายจราจร ได้แก่ เครื่องหมายจราจรชนิดแผ่นป้ายบังคับ เครื่องหมายจราจรชนิดแผ่นป้ายเตือน เครื่องหมายจราจรชนิดแผ่นป้ายแนะนำ และเครื่องหมายจราจรชนิดเครื่องหมายพื้นทาง โดยแต่ละประเภทมีป้ายต่าง ๆ ที่ครูชวนพวกเค้ารู้จักด้วยแบบฝึกหัดนี้กันได้เลย
- กลุ่มผู้เรียน: ป.4-6, ม.ต้น, ม.ปลาย
- อุปกรณ์ที่ใช้: ดินสอหรือปากกา, แบบฝึกหัดดาวน์โหลดได้ที่ https://forms.gle/1PUQdkdGMpEvoJof8
แนวทางการเรียนการสอน
ขั้นตอนที่ 1: เปิดรูปชวนคิด
ก่อนเริ่มเรียนรู้แบบฝึกหัดนี้ ครูสามารถเปิดรูปเครื่องหมายจราจร 2-3 ป้าย แล้วให้นักเรียนลองทายดูสิว่าคือป้ายอะไร หรือ อาจจะถามพวกเค้าว่าหน้าโรงเรียนใครสังเกตเห็นป้ายจราจรอะไรบ้าง ตอบผิดตอบถูกไม่เป็นไร เพราะเดี๋ยวเราจะได้มาเรียนรู้กันผ่านแบบฝึกหัดเครื่องหมายจราจรนี้
ขั้นตอนที่ 2: เครื่องหมายจราจรคืออะไร?
ให้ข้อมูลนักเรียนเบื้องต้นเกี่ยวกับเครื่องหมายจราจรก่อนลงมือทำแบบฝึกหัด รู้ว่า “เครื่องหมายจราจร” ไม่ใช่เป็นเพียงป้ายที่ตั้งอยู่ข้างทางเท่านั้น แต่เป็นเครื่องหมายที่บ่งบอกถึงสภาพทางถนนที่อยู่ข้างหน้า การใช้ความเร็วที่เหมาะสม และอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้หากขาดความระมัดระวัง ผู้ขับขี่ไม่ควรมองข้ามการสังเกตป้ายเตือนต่าง ๆ เนื่องจากป้ายเหล่านี้สามารถเตือนผู้ขับขี่ถึงแนวทางการขับขี่บนถนน โดยเครื่องหมายจราจรแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
- เครื่องหมายจราจรชนิดแผ่นป้ายบังคับ
- เครื่องหมายจราจรชนิดแผ่นป้ายเตือน
- เครื่องหมายจราจรชนิดแผ่นป้ายแนะนำ
- เครื่องหมายจราจรชนิดเครื่องหมายพื้นทาง
ซึ่งครูจะชวนนักเรียนลองมาทำความรู้จักแผ่นป้ายต่าง ๆ น่ารู้ของแต่ละประเภทเครื่องหมายจราจรกัน
ขั้นตอนที่ 3: เริ่มทำแบบฝึกหัดกันได้เลย
- ข้อที่ 1: แจกแบบฝึกหัดให้นักเรียนคนละ 1 ชุด ประกอบด้วยเอกสาร 4 แผ่น
- ข้อที่ 2: ให้นักเรียนเขียนชื่อ ชั้น และโรงเรียนให้เรียบร้อย
- ข้อที่ 3: เริ่มทำแบบฝึกหัดของแต่ละแผ่นได้เลย โดยให้ดูรูปเครื่องหมายจราจร แล้วลองทายสิว่า จากป้ายที่นักเรียนเห็นหมายความว่าอย่างไร โดยเขียนตอบลงในแบบฝึกหัดได้เลย
- ข้อที่ 4: ครูเฉลยคำตอบ และอธิบายเพิ่มเติมว่าแต่ละป้ายมีความหมายว่าอะไร
เพียงเท่านี้ เครื่องหมายจราจรจะไม่เป็นป้ายประกอบทางอีกต่อไป เพราะกลายเป็น “เครื่องมือ” ให้นักเรียนที่รักของครูทุกคนรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการขับขี่รถในปัจจุบันหรืออนาคตให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น ติดตั้งทักษะความปลอดภัยในวันนี้ เพื่อความเซฟในวันข้างหน้ากันนะ!
ที่มา: คู่มือเพื่อการขับขี่ที่ปลอดภัย การคาดการณ์อุบัติเหตุ (Hazard Perception Training)