พี่เซฟแอบคิดว่าน้อง ๆ หลายคนน่าจะอยากมีรถมอเตอร์ไซค์คู่ใจเป็นของตัวเองกันสักคัน และแน่นอนว่าการซื้ออาจจะง่าย แต่การเลือกซื้อให้เหมาะกับการใช้งานของเราอาจจะไม่ง่ายอย่างที่คิด และวันนี้พี่เซฟจะขอมาแนะนำ 4 เรื่องต้องรู้ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อรถจักรยานยนต์ให้กับน้อง ๆ และผู้ปกครองกันครับ
1. ขนาดเครื่องรถจักรยานยนต์หรือซีซี (CC)
ถ้าต้องการรถจักรยานยนต์ใช้ในเมืองหรือชุมชน สามารถเลือกใช้รถจักรยานยนต์ที่มีความเร็วต่ำกว่า หรือเท่ากับ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ประเภทผู้หญิง หรือแม่บ้าน ซึ่งจัดอยู่ในประเภทรถจักรยานยนต์ตามมาตรฐานสากล (UN Regulation, UNR) เพราะความรุนแรงจากการชนจะไม่สูงในขณะเกิดอุบัติเหตุ
แต่หากต้องการใช้เดินทางระหว่างเมืองหรือจังหวัด อาจต้องใช้รถที่มีความเร็วรถสูงกว่า 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป ควรใช้รถจักรยานยนต์ที่มีโครงสร้างแข็งแรงไม่ยุบตัวในช่วงระหว่างแกนบังคับเลี้ยว (แผงคอ) กับที่พักขา เช่น รถจักรยานยนต์ที่มีเครื่องยนต์อยู่ด้านหน้าหรือรถแบบผู้ชายนั่นเอง เนื่องจากเวลาเกิดการชนหรืออุบัติเหตุ โครงสร้างรถจักรยานยนต์ประเภทนี้จะไม่ยุบง่าย
นอกจากนี้แล้วน้อง ๆ ที่มีอายุระหว่าง 15-18 ปี ทำใบขับขี่ส่วนบุคคลได้แต่ต้องมีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 110 ซีซี
2. หมวกกันน็อก
หาซื้อหมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐาน มอก. ไว้เลย ถ้าให้ดีที่สุดคือการเลือกหมวกเต็มหน้าแบบปิดคาง ซึ่งจะดีกว่าหมวกแบบครึ่งใบหรือหมวกแบบเปิดหน้า ที่สำคัญของการสวมหมวกกันน็อกทุกแบบ ต้องเน้นการคาดสายรัดให้กระชับคางอยู่เสมอ เพราะจะสามารถป้องกันหรือช่วยลดความรุนแรงจากการบาดเจ็บเมื่อเกิดอุบัติเหตุได้ ยกเว้นในกลุ่มเด็กอายุ 2-4 ขวบ ที่กล้ามเนื้อคอยังไม่แข็งแรงพอ ควรเริ่มแบบครึ่งใบก่อน เนื่องจากน้ำหนักเบากว่าแบบอื่น
3. ระบบห้ามล้อและเบรก
ระบบเบรกจะต้องมีการปรับแต่งระยะผ้าเบรกเองได้ ถ้าไม่ทราบวิธีปรับแต่งระบบเบรก ดังกล่าว ให้เลือกระบบเบรกที่เป็นจานเบรก (Disc brake) เป็นหลักทั้งล้อหน้าและล้อหลัง เนื่องจากระบบดังกล่าวมีการปรับตั้งระยะห่างของผ้าเบรกอัตโนมัติ รวมถึงต้องเลือกระบบเบรกที่มีการป้องกันการล็อกของล้อ เช่น ระบบ ABS (Anti-lock Brake System) ที่ล้อหน้าอย่างเดียว หรือทั้งล้อหน้าและล้อหลัง เนื่องจากระบบดังกล่าวช่วยให้รถจักรยานยนต์ไม่ล้มในขณะทำการเบรกบนพื้นผิวถนนต่าง ๆ สามารถป้องกันล้อล็อกทั้งล้อหน้าและหลัง โดยที่ผู้ขับขี่สามารถออกแรงเบรกได้เต็มที่
และก่อนวันซื้อรถก่อนลงถนนจริง ควรลองขับรถจักรยานยนต์ในศูนย์บริการเพื่อให้ทราบถึงระดับแรงเบรกมือ หรือแรงเบรกเท้าก่อนจะตัดสินใจซื้อ เนื่องจากรถแต่ละรุ่นหรือยี่ห้อมีการออกแบบทางเทคนิคที่แตกต่างกัน และที่สำคัญมาก ไม่ควรดัดแปลงคันเบรกมือ เนื่องจากรูปร่างลักษณะ และคุณสมบัติทางวัสดุที่ใช้ ได้ถูกออกแบบมาจากบริษัทผู้ผลิตรถอยู่แล้วตามหลักวิศวกรรม เช่น แรงเบรกที่ใช้ในระบบห้ามล้อไม่ถูกต้องตามผู้ผลิต หรือคันเบรกเสียหายหรือแตกหักในขณะใช้งาน ส่งผลให้ผู้ขับขี่ไม่สามารถควบคุมระยะเบรกได้จนนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้ในที่สุด
4. ระบบไฟส่องสว่าง สัญญาณ
เลือกรถจักรยานยนต์ที่มีอุปกรณ์สะท้อนแสงด้านหลังและด้านข้างตัวรถอย่างชัดเจน มีขนาดใหญ่ สังเกตเห็นชัดเจน โดยไม่ถูกบดบังจากขาผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่นั่งซ้อนท้าย เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ
แนะนำให้เลือกระบบไฟหน้าของรถที่มีความสว่างเป็นมุมกว้าง ทำให้ผู้ขับขี่สามารถมองเห็นยานพาหนะคันอื่นหรือคนเดินถนนด้านข้างได้อย่างชัดเจน และตัวรถต้องเป็นที่สังเกตจากยานพาหนะอื่นบนท้องถนนได้ง่ายอีกด้วย
ไฟท้ายก็มีความสำคัญเช่นกัน พี่เซฟอยากให้เลือกรถจักรยานยนต์ที่มีไฟท้ายเป็นแบบ LED เท่านั้น ไม่ควรเป็นหลอดไส้ เพราะเป็นเทคโนโลยีเก่าอาจจะขาดได้ในขณะขับขี่ เนื่องจากแรงกระแทกและการสั่นสะเทือนจากสภาพถนน ไม่ควรดัดแปลงหลอดไฟหน้าและไฟท้ายที่มาจากผู้ผลิต
ระบบไฟสัญญาณเตือนต่างๆ ที่หน้าปัดของรถจักรยานยนต์จะต้องเห็นได้ชัดเจน วัสดุที่ใช้ทำหน้าปัด จะต้องไม่หมองจากแสงแดด หรือสภาวะอากาศต่าง ๆ ตลอดอายุการใช้งาน
ระบบไฟเลี้ยวจะต้องสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนที่ด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลังของรถ เนื่องจากรถจักรยานยนต์มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับยานพาหนะ 4 ล้อบนท้องถนน ดังนั้นการมองเห็นหรือการปรากฎของรถจักรยานยนต์บนถนน ควรจะทำให้เป็นการสังเกตได้ง่ายจะปลอดภัยจะดีกว่า
นอกจากนี้ พี่เซฟยังมีเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อเป็นข้อมูลเสริมในการเลือกซื้อรถจักรยานยนต์ เพิ่มเติมอีก นั่นก็คือ
- เลือกรุ่นรถจักรยานยนต์ที่มีขนาดหน้าล้อยางกว้างเสมอเพราะผู้ขับขี่สามารถควบคุมรถจักรยานยนต์ในขณะเปลี่ยนทิศทางได้เสถียรมากกว่า
- ไม่ควรดัดแปลงระบบเสียงแตรของรถ
- ไม่ควรถอดหรือดัดแปลงกระจกมองหลัง กระจกคือตัวช่วยชั้นดีในการขับขี่รถจักรยานยนต์
- ไม่ควรติดตั้งกล่องเก็บของหรืออุปกรณ์เสริมท้าย (Topbox) ของรถจักรยานยนต์เพื่อเพิ่มที่เก็บของ ถ้าจำเป็นต้องการติดตั้งกล่องเก็บของดังกล่าว พื้นที่ในการติดตั้งควรอยู่ในตำแหน่งผู้ซ้อนท้าย
แต่ที่สำคัญไปกว่าการเลือกซื้อรถจักรยานยนต์อย่างเหมาะสม นั่นก็คือการที่น้อง ๆ ทุกคนจะต้องมีใบขับขี่ก่อนนั่นเอง ขอย้ำนะครับว่า อายุระหว่าง 15-18 ปี ทำใบขับขี่ส่วนบุคคลได้แต่ต้องมีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 110 ซีซี นะครับ แน่นอนว่าพี่เซฟอยากขอให้ท่านผู้ปกครองที่มีความประสงค์จะซื้อรถจักรยานยนต์ให้กับบุตรหลาน ควรพาพวกเค้าไปเรียนหรือสอบใบขับขี่มาให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อน เพราะว่าความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดนะครับ
ที่มา: โครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัย