ค้นหา

5 แนวทางขับขี่ชวนรู้ ก่อนเข้าสู่จุดตัดทางรถไฟ

5-rules-to-drive-pass-a-railway
318

จากการรายงานของกระทรวงคมนาคมพบว่า ในปีงบประมาณ 2558-2562 ณ บริเวณจุดตัดทางรถไฟเฉลี่ยแล้ว 5 ปี มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นปีละประมาณ 77 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 74 ราย และเสียชีวิต 28 ราย ซึ่งอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดบริเวณจุดลักผ่านที่มีทั้งแบบมีเครื่องกั้นและไม่มีเครื่องกั้น ส่งผลให้จุดตัดทางรถไฟเป็นอีกหนึ่งจุดเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้

และเพื่อความปลอดภัยทุกการขับขี่ผ่านจุดตัดรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นทางลัดผ่าน (ทางตัดผ่านทางรถไฟที่ไม่มีการขออนุญาตหรือไม่ได้รับอนุญาตจากการรถไฟแห่งประเทศไทย)  หรือทางเสมอระดับ (ระดับดิน) ที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องแล้วก็ตาม การรู้แนวทางการขับขี่ผ่านจุดตัดทางรถไฟ ก็ช่วยให้เราใช้รถใช้ถนนได้ปลอดภัยยิ่งขึ้น วันนี้พี่เซฟเลยขอมาแชร์ “5 แนวทางขับขี่ชวนรู้ ก่อนเข้าสู่จุดตัดทางรถไฟ” จะมีแนวทางอย่างไรบ้างนั้น ตามไปดูกัน

1. สังเกตป้ายเตือน สัญญาณเสียง สัญญาณไฟวาบ

จะได้รู้ว่าควรจะต้องปฏิบัติตัวในการขับขี่อย่างไร ซึ่งป้ายเตือนทางรถไฟบริเวณจุดตัดมี 2 แบบด้วยกัน ได้แก่ 1. ป้ายเตือนทางรถไฟไม่มีเครื่องกั้น (มีสัญลักษณ์รูปรถไฟ หมายถึง ข้างหน้ามีทางรถไฟตัดผ่าน และไม่มีเครื่องกั้นทาง) และ 2. ป้ายเตือนทางรถไฟมีเครื่องกั้น (มีสัญลักษณ์รูปรั้ว หมายถึง ทางข้างหน้ามีทางรถไฟตัดผ่าน และมีรั้ว/เครื่องกั้นทาง)

2. ห้ามขับรถแซงคันหน้าในระยะ 30 เมตร ก่อนถึงทางรถไฟ

ที่ห้ามแบบนี้เพราะหากจุดตัดทางรถไฟกำลังมีรถไฟข้ามทางอยู่ล่ะก็ การแซงในระยะประชิดอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุที่เรียกว่า “ประสานงา” ได้เลย

3. หยุดรถให้ห่างจากทางรถไฟไม่น้อยกว่า 5 เมตร

เมื่อได้ยินเสียงสัญญาณ เสียงรถไฟกําลังแล่นผ่านเข้ามาใกล้ ควรลดความเร็ว และหยุดรถให้ห่างจากทางรถไฟไม่น้อยกว่า 5 เมตร ที่ต้องเว้นระยะห่างก็เพื่อความปลอดภัย เพราะการหยุดรถใกล้รางรถไฟมากเกินไป อาจก่อให้เกิดการเฉี่ยวชนกันจนเกิดอุบัติเหตุได้

4. ห้ามหยุดรถคร่อมรางรถไฟ

อันนี้เป็นข้อที่พี่เซฟเน้นย้ำกันสุด ๆ ยิ่งกับทางรถไฟที่ไม่มีสัญญาณเตือนนี่ต้องให้ระมัดระวังเป็นพิเศษเลย ถ้ารู้ตัวว่ากำลังจะผ่านทางรถไฟแล้วไม่อยากคร่อมรางล่ะก็ รอให้แน่ใจว่ารถคันหน้าแล่นผ่านทางรถไฟไป แล้วมีพื้นที่ด้านหน้ามากพอให้รถเราเคลื่อนตัวข้ามทางรถไฟได้พ้น ค่อยขับขี่ข้ามทางรถไฟได้ เพราะไม่งั้นอาจทำให้เราติดอยู่กลางรางรถไฟได้เลย

5. เมื่อรถไฟผ่านไปแล้ว มีสัญญาณให้รถผ่านได้ จึงขับรถผ่านไปได้

(อ้างอิงจากพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 62) อันนี้น้อง ๆ ต้องคอยสังเกตสัญญาณไฟที่จุดตัดทางรถไฟให้ชัดเจนอยู่เสมอ ให้มั่นใจก่อนว่าเห็นสัญญาณรถผ่านขึ้นแล้วจริง ๆ หรือบางแห่งอาจจะมีที่กั้น ก็รอให้ที่กั้นทางยกขึ้นให้สุดก่อนแล้วค่อยเคลื่อนรถข้ามทางรถไฟไป

สุดท้ายนี้ พี่เซฟก็ขอย้ำกับน้อง ๆ อีกครั้งว่า บริเวณจุดตัดรถไฟเป็นเป็นจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุอีกหนึ่งจุดที่ไม่ควรมองข้าม ให้พวกเราระมัดระวังกันเป็นพิเศษ และทุกครั้งก่อนเข้าสู่บริเวณจุดตัดทางรถไฟ อย่าลืมลองนำแนวทางเหล่านี้ไปใช้ดูนะ เพราะนอกจากจะเป็นการปฏิบัติตามกฎจราจรทางบกแล้ว ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับคนขับขี่และคนบนรถไฟอีกด้วย

ที่มา:

ติดตามโซเชียลของเราได้ที่

© Copyright 2022 Safe Education Thailand. All rights reserved.