อะไรเอ่ย เป็นของที่ต้องมี แต่กลับไม่มีใครอยากใช้ ??? พี่เซฟชวนทุกคนลองทายกัน มีอะไรบ้างนะ…
พี่เซฟเฉลยเลยแล้วกัน แท่น แทน แท้นน … คำตอบคือ “ถุงลมนิรภัย” นั่นเอง เพราะทุกวันนี้ ไม่มีรถยนต์คันไหน ไม่มีถุงลมนิรภัย แล้วทำไมถึงไม่มีใครอยากใช้นะหรอ ก็เพราะถุงลมนิรภัยจะได้ถูกใช้ ก็ต่อเมื่อรถยนต์เราประสบอุบัติเหตุ และพี่เซฟก็คิดว่า พวกเราส่วนใหญ่คงไม่ค่อยมีใครเคย ได้เห็น สัมผัส หรือมีประสบการณ์ ในการใช้ถุงลมนิรภัยกันสักเท่าไร
แล้วถุงลมนิรภัยคืออะไร มีไว้ทำไม แล้วมันทำงานอย่างไร วันนี้พี่เซฟจะมาสรุปให้ฟังเอง
“ถุงลมนิรภัย” (Airbag) หน้าตาเหมือนหมอนเป่าลม โดยตอนที่ยังไม่เกิดอุบัติเหตุ มันจะแฟบ และถูกเก็บอยู่ภายในรถยนต์เราหลายจุดอย่างมิดชิด แต่มันจะเด้งและพองตัวขึ้นมาทันที เมื่อรถยนต์ถูกกระแทกแรง ๆ เพื่อป้องกันคนขับรถ และผู้โดยสาร ไม่ให้บาดเจ็บ และลดความเสี่ยงไม่ให้เสียชีวิต จากการกระแทกกับของแข็ง และเศษกระจก
รถยนต์ส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะยี่ห้อไหน รุ่นอะไร ราคาถูกหรือแพง ก็ต้องมีถุงลมนิรภัยอย่างน้อย 2 จุด แต่รถรุ่นใหม่ ๆ อาจมีถุงลมนิรภัยมากกว่า 6 จุดเลยทีเดียว แล้วถุงลมนิรภัยถูกติดตั้งไว้ตรงไหนบ้าง มาดูกัน
- ถุงลมนิรภัยด้านหน้า (Front Airbags) จำนวน 2 จุด ซึ่งเป็นจุดที่รถยนต์ทุกคันมี อยู่ที่พวงมาลัย 1 จุด และ ด้านหน้าที่นั่งผู้โดยสารข้างคนขับอีก 1 จุด มีหน้าที่ช่วยป้องกันการกระแทรกส่วนหน้าอก คอ และศีรษะ
- ถุงลมนิรภัยด้านข้าง (Side Airbags) มีจำนวนอย่างน้อย 2 จุด หรือมากสุดก็ตามจำนวนที่นั่ง ในรถรุ่นใหม่ หรือรุ่นแพงขึ้นมาหน่อย โดยถูกติดตั้งด้านข้างของคนขับและผู้โดยสาร ฝั่งที่ติดกับโครงรถ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประตูข้าง หรือด้านข้างของเบาะที่นั่ง ขึ้นอยู่กับรุ่นและยี่ห้อ มีไว้สำหรับป้องกันการกระแทกตรงส่วนลำตัว สะโพก และต้นขา
- ม่านถุงลมนิรภัย (Curtain Airbags) จะมีหน้าตาต่างจากถุงลมจุดอื่น ๆ เพราะมีลักษณะแบน โดยเวลากางออก จะแผ่ยาวขนานไปกับหน้าต่างรถยนต์ทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งม่านถุงลมนิรภัยนี้ จะมีเฉพาะในรถที่มีราคาแพง ทำหน้าที่ป้องกันส่วนหัวไหล่ ใบหน้า และศีรษะ
- ถุงลมนิรภัยป้องกันเข่าและขา (Knee Airbag) ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้หัวเข่า และส่วนขาของคนขับกระแทกกับคอลโซลรถยนต์ โดยจะพองตัวออกมาบริเวณใต้พวงมาลัย
- ถุงลมนิรภัยที่พื้นใต้เท้า (Carpet Airbag) จะอยู่บริเวณใต้พรม ที่นั่งด้านหน้า ทำหน้าที่ช่วยลดแรงกระแทกบริเวณเท้า แต่ปัจจุบันจะไม่ค่อยเห็นรถรุ่นไหนมีถุงลมที่พื้นกันแล้ว
ส่วนการทำงานของถุงลมนิรภัยนั้น จะเชื่อมกับเซนเซอร์หลายจุด ที่ติดอยู่บริเวณด้านหน้า และด้านข้างของตัวรถ โดยเมื่อรถโดนกระแทก หรือชนกับสิ่งกีดขวาง ในบริเวณที่เซนเซอร์ จะส่งสัญญาณไปให้ถุงลมที่เชื่อมอยู่ แล้วพองตัวอัตโนมัติ
แล้วทุกคนสงสัยกันไหมว่า ถุงลมพองตัวได้อย่างไร ถ้าให้พี่เซฟอธิบายง่าย ๆ ก็คือ ตอนที่ถุงลมยังไม่ถูกใช้ ภายในถุงลมจะมีสารเคมี ที่ชื่อว่า โซเดียมเอไซด์ (Sodium Azide) พอมีแรงกระแทกที่เซนเซอร์ สารนี้ก็จะถูกกระตุ้น จะสร้างก๊าซไนโตรเจนขึ้นมา และสารเคมีอื่น ๆ แล้วไหลเข้าไปบรรจุในถุงลมนิรภัยที่พับตัวอยู่อย่างรวดเร็ว ภายในเวลาเพียงเสี้ยววินาที (0.04 วินาที) เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตรถยนต์ได้ออกแบบและพัฒนากระบวนการนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันคนขับและผู้โดยสาร ซึ่งการพองตัวของถุงลมรุ่นใหม่ ๆ นั้น จะพอง 2 สเต็ป โดยสเต็ปแรก จะพองเพียง 30% ก่อน เพื่อไม่ให้ถุงลมขยายตัวเร็วและแรงเกินไป จนกระแทกกับหน้าและคอของคนขับและผู้โดยสาร จากนั้นจะพองตัว 100% เพื่อทำหน้าที่หลักของมัน คือ ป้องกันไม่ให้ผู้โดยสารไปกระแทกกับของแข็ง หรือของมีคมอื่น ๆ จากอุบัติเหตุ หลังพองตัว 100% สักพัก ถุงลมนิรภัยจะค่อย ๆ แฟบลง เพราะถ้าถุงลมพอง และอัดกับหน้าผู้โดยสารนานเกินไป อาจทำให้หายใจไม่ออก หรือมองไม่เห็นเส้นทาง หรืออันตรายอื่น ๆ
นอกจากนี้ สิ่งที่ทุกคนต้องรู้คือ ถุงลมนิรภัยในรถรุ่นใหม่นั้น ทำงานร่วมกับเข็มขัดนิรภัย ซึ่งหมายความว่า ถ้าที่นั่งตรงไหน ไม่ได้เสียบเข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัยสำหรับที่นั่งจุดนั้น ก็จะไม่ทำงาน และสาเหตุที่พัฒนามาเป็นระบบนี้ เป็นเพราะว่า มีเหตุการณ์ที่ถุงลมนิรภัย ที่พองและกระแทกผู้โดยสารที่นั่งไม่ตรงตำแหน่ง จนเกิดการบาดเจ็บ ดังนั้น ข้อที่ต้องปฏิบัติอีกหนึ่งอย่าง ก็คือ ทุกคนต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง ไม่ว่าจะนั่งตำแหน่งไหนบนรถก็ตาม เผื่อมีอุบัติเหตุขึ้นมา ถุงลมนิรภัยตำแหน่งที่เรานั่งจะได้ทำงาน นั่นเอง
อ่านมาถึงตรงนี้ ทุกคนคงเห็นภาพการทำงานของถุงลมนิรภัยกันชัดเจนขึ้นมาบ้างแล้ว แต่พี่เซฟเชื่อว่า คงไม่มีใครอยากให้ถุงลมนิรภัยของตัวเองต้องได้ใช้งานจริง ๆ หรอก เพราะฉะนั้นเรามาขับรถอย่างมีสติ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุกันจะดีกว่า
ที่มา:
– Sanook, https://www.sanook.com/auto/84819/
– Autospinn, https://www.autospinn.com/2022/05/airbag-89891
– Masii, https://bit.ly/42csB8P
– Chobrod, https://bit.ly/41TQBhm
– Lifestyle224, https://bit.ly/40VVvsH