หลาย ๆ คนอาจจะยังไม่รู้ว่า ประเทศไทยติด Top 10 ของโลก เรื่องการมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตบนท้องถนนสูงที่สุดประเทศหนึ่งของโลก! จากข้อมูลการตายจากอุบัติเหตุทางถนน จาก 3 หน่วยงานหลัก ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ข้อมูลกลางด้านการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค และกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเฉลี่ยประมาณ 20,000 รายต่อปี ซึ่งในปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 16,957 ราย ปี พ.ศ. 2563 จำนวน 17,831 ราย และปี พ.ศ. 2562 จำนวน 19,904 ราย
จากตัวเลขสถิติที่เกิดขึ้น เราจะเห็นว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุนั้นมีแนวโน้มลดลง ซึ่งเกี่ยวข้องกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอย่างชัดเจน ยิ่งพอรวมกับปัจจัยมาตรการควมคุมโรคระบาดของรัฐบาลเข้าไปด้วย ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนมีการลดการใชัรถใช้ถนนอย่างต่อเนื่องอีกเช่นกัน สอดคล้องกับดัชนีความรุนแรง (Severity Index) หรือสัดส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตต่อจำนวนอุบัติเหตุ ที่วิเคราะห์จากระบบข้อมูลสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนของกรมทางหลวง พบว่า ความรุนแรงบนท้องถนนที่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุนั้นมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัดจริง ๆ
ฟังเหมือนจะเป็นเรื่องดี แต่ข้อมูลเดียวกันกลับสะท้อนมุมมองที่น่าตกใจว่า ดัชนีการเสียชีวิต (Fatality Index) หรือสัดส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตต่อจำนวนรวมผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ กลับพบว่า อุบัติเหตุที่รุนแรงถึงขั้นบาดเจ็บนั้นยังคงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาพรวมทั้งประเทศที่พบว่าเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 4 เท่าตัว ในระหว่างปี พ.ศ. 2562-2564 แปลว่า แม้ว่าคนจะใช้รถใช้ถนนช่วงโควิด-19 ระบาดน้อยลง แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นยังคงมีความรุนแรงและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงเช่นเดิม และอาจจะมากขึ้นด้วยซ้ำ
ซึ่งพี่เซฟได้ไปรวบรวมสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุในช่วง 2-3 ปีในบ้านเราที่ผ่านมา โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ดังต่อไปนี้ (ที่มา: สำนักงานตำรวจแห่งชาติ)
พอเห็นข้อมูลแบบนี้ ทุกคนน่าจะเห็นกันแล้วว่า สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุอันดับหนึ่งของประเทศไทย คือ การขับรถเร็วเกินกว่าอัตรากำหนดนั่นเอง ซึ่งในปี พ.ศ. 2563-2564 ตัวเลขผู้กระทำผิดมีจำนวนสูงถึง 6-7 ล้านคนกันเลยทีเดียว!
สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมการขับขี่ของคนไทย ที่ส่วนใหญ่ยังคงใช้ความเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และยังคงพบเห็นอยู่เป็นจำนวนมากบนท้องถนนได้อย่างชัดเจน
แล้วเราจะแก้ไขปัญหากันอย่างไรได้บ้าง?
1. ขับรถด้วยความเร็วตามกฎหมายกำหนด:
เป็นพฤติกรรมง่าย ๆ ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนถนนได้เลย เพราะถ้าเราขับรถด้วยความเร็วที่เหมาะสม เราจะสามารถควบคุมยานพาหนะที่เราขับขี่ได้เป็นอย่างดี ก็จะมีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุได้น้อยลง ที่สำคัญ!!
2. เคารพกฎจราจร:
เป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมใชัรถใช้ถนนสำคัญที่เกี่ยวข้องกันกับข้อแรก เพราะต่อให้เราควบคุมความเร็วรถของเราแล้ว แต่ยังทำผิดกฏจราจรซ้ำแล้วซ้ำแล้ว โอกาสการเกิดอุบัติเหตุสูงก็จะยังมีอยู่
3. ร่างกายต้องพร้อม!:
ง่วง เมา หาว เมื่อย หรืออาการใด ๆ ที่ส่งผลต่อทักษะการขับรถของเรา หากรู้ตัวว่ามีอาการเหล่านี้ ควรพักผ่อนร่างกายให้เต็มที่ก่อนจะไปขับขี่ยานพาหนะต่าง ๆ เพราะความไม่พร้อมของเราอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้อย่างคาดไม่ถึงนะ
4. ศึกษาเส้นทาง:
การเรียนรู้และเข้าใจเส้นทางถนนต่าง ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการที่จะทำให้เราขับรถอย่างมีสติและวางแผนการใช้รถอย่างรอบคอบ ช่วยลดโอกาสการขับรถผิดกฏจราจรจนไปถึงเกิดอุบัติเหตุขึ้นจากความไม่ชำนาญเส้นทางได้
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศยกเลิกโรคโควิด-19 จากโรคติดต่อระดับอันตราย ให้กลายเป็นโรคติดต่อระดับเฝ้าระวัง พร้อมเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ที่เคยใช้เพื่อควบคุมสถานการณ์โรคระบาดแล้ว ได้ยินแบบนี้พี่เซฟก็แอบหวั่นใจนะว่า เราจะเจอกับการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนแตะหลักสองหมื่นกันอีกครั้งเหมือนเมื่อก่อนหรือเปล่านะ
ซึ่งถ้าทุกคนไม่อยากให้ประเทศไทยเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งจนติดอันดับโลกอีกครั้งล่ะก็ ผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างเรา ๆ ก็สามารถนำสิ่งที่พี่เซฟแนะนำทั้ง 4 ข้อไปใช้ได้ เพื่อให้วัฒนธรรมขับขี่ปลอดภัยของบ้านเรานั้นเป็นไปได้และเกิดขึ้นจริง
#ขับขี่ศึกษา #ความปลอดภัยต้องมาก่อน #safeeducationthai #roadsafety #roadsafetyliteracy