วันนี้พี่เซฟพาน้อง ๆ เดินทางไปถึงจังหวัดมหาสารคามเลยครับ เราจะไปดูการทำงานและการเตรียมตัวก่อนช่วงเทศกาลของพี่เจ้าหน้าที่ที่อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคามกันครับ…มาโน้นแล้ว พี่เศรษฐา เณรสุวรรณ นายอำเภอเจ้าของพื้นที่ที่จะเล่าให้พวกเราฟังถึงบทบาทหน้าที่ช่วงเทศกาลกันครับ
“คน รถ ถนน สิ่งแวดล้อม คือปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ เราต้องเอาตัวนี้เป็นตัวตั้งก่อน ส่วนเรื่องทามไลน์การทำงาน เราจะแบ่งเป็น 777 คือ ก่อนเทศกาล 7 วัน ระหว่างเทศกาล 7 วันหรือที่เรียกว่า 7 วันอันตราย และหลังเทศกาลอีก 7 วัน ซึ่งแต่ละช่วงจะมีการปฏิบัติงานต่างกัน” ท่านนายอำเภอเล่ามาตรการแต่ละด้านอย่างจริงจัง
- คน: ทำให้คนตระหนักถึงภัยทางถนนที่อาจเกิดขึ้นได้ช่วยเทศกาล
- รถ: เจ้าหน้าที่ตำรวจจะให้คำแนะนำหรือบังคับใช้กฎหมายกับรถที่ชำรุด เสียหาย ไม่มีไฟเลี้ยว ไฟเบรก เป็นต้น
- ถนน: มีการสำรวจถนนที่ชำรุดและแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาซ่อมแซม
- สิ่งแวดล้อม: สำรวจว่าไฟส่องสว่าง ไฟกระพริบเพียงพอหรือไม่ มีการตัดแต่งต้นไม้กิ่งไม้ให้มีความปลอดภัย
นอกจากนี้ยังมีการรวบรวมข้อมูลจากตำรวจหรือโรงพยาบาลเพื่อนำมากางดูและระบุจุดเสี่ยงด้วย เพื่อจะได้เตรียมพื้นที่ในจุดเสี่ยงเป็นพิเศษ
“ในช่วง 7 วันอันตราย จะมีการทำงานหลักและเสริมควบคู่กัน มีการตั้ง 3 ด่าน โดยจะเป็นโครงข่ายกันเพื่อการป้องกันเฝ้าระวัง ด่านแรกเป็นท้องถิ่นที่ทำจุดบริการประชาชน เพื่อให้คนได้พัก มีบริการกาแฟหรือผ้าเย็น รวมถึงสอบถามเส้นทาง เพื่อลดอุบัติเหตุ ด่านสองก็จะมีการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจที่จะไปตั้งเพื่อตรวจค้นหรือป้องกันการดื่มแล้วขับ และด่านที่สามจะเป็นประเภทด่านชุมชน ซึ่งเราส่งเสริมให้กำนันผู้ใหญ่บ้านมีด่านชุมชนเพื่อป้องปรามไม่ให้คนที่ดื่มสุราออกจากบ้านหรือออกจากถนนเล็กในหมู่บ้านไปขึ้นถนนใหญ่ รวมถึงเรื่องความปลอดภัยต่าง ๆ เช่น การสวมหมวกกันน็อก การครองสติ ต่าง ๆ นานา” เรียกได้ว่าเป็นด่าน 3 ชั้นไม่ใช่เพื่อจับผิดนะครับ แต่ว่าเพื่อดูแลความปลอดภัยของทุกคน”
ด่านชุมชนของกันทรวิชัยยังมีโครงการพิเศษกว่าพื้นที่อื่น ๆ ไม่งั้นพี่เซฟคงไม่พามาดูถึงที่นี่ เพราะเขามีโครงการ “ปักหมุดวงสุรา” ซึ่งปลัดวุฒิพงศ์ โง้วศิลปศาสตร์ จะมาเล่าให้ฟังครับ
“โครงการนี้นวัตกรรมใหม่ครับ เพราะปกติกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ อสม. จะอยู่เฝ้าด่านตลอดทั้งวันบางทีก็ไม่ได้ผลอย่างเต็มที่และทำให้เขาเบื่อด้วย เราเลยคิดใหม่ว่าถ้าให้กำนันผู้ใหญ่บ้านเนี่ยเดินไปหาชุมชน ตรงไหนที่ตั้งวงสังสรรค์กันก็ไปพูดไปแจกใบปลิว ส่วนใหญ่กำนันผู้ใหญ่บ้านเดินมา เขาก็จะงง ๆ กำนันผู้ใหญ่บ้านก็จะไปพูดคุยว่ามากี่คนมาอยู่กี่วัน เพราะคนส่วนใหญ่ก็จะกลับภูมิลำเนาช่วงสงกรานต์นี่แหละ และขอว่าดื่มแล้วอย่าขับนะ เขาก็จะให้ความร่วมมือดีเพราะเขาไม่เคยเจอผู้ใหญ่บ้านมาเดินแจกใบปลิวมาให้คำแนะนำ ใบปลิวก็จะบอกถึงอันตรายจากการดื่มแล้วขับและโทษปรับต่าง ๆ เพื่อให้ครอบครัวเขาดูแลกัน ผมว่านอกจากให้ความรู้แล้วยังได้ไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบและเป็นประโยชน์ในการดูแลพื้นที่อีกทางหนึ่งด้วย” พี่ปลัดเล่าให้ฟังถึงการทำงานด้วยความภาคภูมิใจ
และทุกวันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แต่ละชุมชนก็จะต้องแจ้งเข้าไปในไลน์ว่ามีการตั้งวงสังสรรค์กันที่ไหนบ้าง เวลากี่โมง และยังคอยนำเสนอข่าวสารอุบัติเหตุ หรือสถิติการเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ ในชุมชน ให้คนได้รับทราบและตระหนักถึงภัยใกล้ตัวกันมากขึ้น
พี่เซฟได้ฟังอย่างนี้แล้วก็รู้สึกอุ่นใจและมีความหวังมากเลยครับ ถ้าโครงการทำได้ดีในชุมชนกันทรวิชัยก็น่าจะขยายผลไปพื้นที่อื่น ๆ ได้ นอกจากผู้ขับจะไม่ประมาทแล้ว ชุมชนยังช่วยดูแลกันได้อีกทางหนึ่งด้วยนะครับ
ขอให้ทุกคนสนุกสนานและปลอดภัยในช่วงสงกรานต์ พี่เซฟขอไปเตรียมตัวเล่นน้ำก่อนนะคร๊าบ