น้อง ๆ เคยสงสัยกันบ้างไหมครับ แอลกอฮอล์ทำอะไรกับสมอง? ทำไมดื่มแล้วเปลี่ยนเป็นคนละคน? ว่าแต่เกี่ยวอะไรกับขับขี่ศึกษา…วันนี้พี่เซฟจะมาชวนคุยกันครับ
แอลกอฮอล์ที่เราดื่มกัน ไม่ว่าจะเป็นเบียร์ ไวน์ เหล้า วิสกี้ หรือเครื่องดื่มมึนดื่มอื่น ๆ จะเกิดจากการหมักของยีสต์ ซึ่งสร้างเอทิลแอลกอฮอล์ขึ้น หรือที่เราเรียกกันว่า เอทานอล พอเราดื่มเข้าไปแล้ว ร่างกายของเราก็จะดูดซับแอลกอฮอล์เข้าไปในเส้นเลือด แอลกอฮอล์เลยได้เดินทางไปทั่วร่างกาย แต่ที่ออกฤทธิ์อย่างเห็นผลได้ชัดเจนคือ แอลกอฮอล์จะกดการทำงานของสมองแทบทุกส่วน
- สมองส่วนหน้า: ส่วนที่ควบคุมความคิด การแสดงออกทางพฤติกรรมของเรา เมื่อดื่มแอลกอฮอล์หนักเข้า ทำให้บางคนเหมือนเปลี่ยนเป็นคนละคน แสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ และทำให้การคิดวิเคราะห์หรือการตอบสนองช้าลงด้วย
- กลีบข้างของสมองส่วนหน้า: เมื่อแอลกอฮอล์กดการทำงานส่วนนี้จะทำให้การรับรู้ตำแหน่ง การกะระยะผิดพลาด และทำให้เราพูดไม่ค่อยรู้เรื่องด้วย
- ฮิปโปแคมปัส: สมองส่วนความทรงจำ พอเริ่มกรึ่มในบางคนแอลกอฮอล์อาจจะไปทำให้หวนคิดถึงความหลังที่โศกเศร้า แต่ถ้าดื่มมากแล้วภาพตัด คือตื่นมาจำเหตุการณ์ทั้งหมดไม่ได้ เพราะฮิปโปแคมปัสโดยแอลกอฮอล์เล่นงานไปชั่วขณะ
- สมองส่วนหลัง: ส่วนที่ควบคุมสมดุลในร่างกายก็จะทำงานแย่ลง ทำให้เราเดินเซ เสียการทรงตัว ถ้ามีแอลกอฮอล์มากไปก็จะทำให้เราหลับในที่สุด
ทุกคนเห็นแล้วว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลต่อร่างกายอย่างไรบ้าง และถ้าเราดื่มแล้วไปขับขี่ยานพาหนะอีกก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุบนถนนและเป็นอันตรายต่อคนอื่นด้วยนะครับ ยกตัวอย่างปีใหม่ที่ผ่านมา มีสถิติคดีดื่มแล้วขับที่ศาลสั่งควบคุมความประพฤติสูงถึง 2,458 คดี คิดเป็นร้อยละ 83 ของคดีขับขี่ทั้งหมด ในช่วงเวลาแค่ 4 วัน ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2564 – 1 มกราคม 2565 และหากเกิดอุบัติเหตุโดยที่ผู้ขับขี่มีความเข้มข้นแอลกอฮอล์ในเลือดสูงกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ทางประกันจะไม่รับผิดชอบความเสียหายนะครับ
ถ้าทุกคนรู้อย่างนี้แล้ว พี่เซฟอยากบอกว่า “ดื่มไม่ขับ” ดีที่สุดนะครับ
ที่มา:
- ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา, https://sciplanet.org/content/9304
- กรุงเทพธุรกิจ, https://www.bangkokbiznews.com/news/980493
- เว็บสารสนเทศสุขภาพไทย, http://bit.ly/3VDemGL