ค้นหา

รวบตึง 7 เทคนิคขับรถลุยน้ำให้ปลอดภัย ทั้งคนทั้งรถ

how to drive through the flood 00
726

หากฝนตกหนัก จำเป็นต้องขับรถลุยน้ำ คนขับอย่างเราจะทำอย่างไรให้ปลอดภัย ทั้งคนขับ คนขี่ คนซ้อน คนเดินเท้า และสภาพรถยนต์ของเรา วันนี้พี่เซฟจะมาแชร์แนวทางให้ทุกคนได้เตรียมตัวก่อนฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงนี้

ก่อนอื่นเรามาดูเทคนิคที่คนขับต้องรู้ เมื่อไปเจอน้ำท่วมกัน

เทคนิค 1: หากน้ำท่วมสูงเกินครึ่งล้อรถคันหน้าไม่ควรลุยตามเข้าไป

เราต้อง “สังเกตความลึกของน้ำที่ท่วมขัง” ระดับน้ำที่ปลอดภัยต่อเครื่องยนต์ คือ ไม่เกิน 20-30 เซนติเมตร แล้วแต่ความสูงของรถ โดยรถเก๋งแนะนำให้ไม่ควรลุยน้ำที่มีความสูงเกิน 20 เซนติเมตร ส่วนรถที่สูงขึ้นมาหน่อยอย่างรถกระบะ ระดับที่ปลอดภัยอยู่ที่ 30 เซนติเมตร 

เราสามารถคาดคะเนระดับน้ำ จากความสูงของขอบทางเท้าได้ โดยทางเท้าส่วนใหญ่จะสูงอยู่ที่ 10-20 เซนติเมตร หากระดับน้ำท่วมทางเท้าแล้ว แปลว่าเราต้องระวังแล้ว หรืออีกทางหนึ่งที่เราสามารถสังเกตระดับน้ำที่ปลอดภัยได้ คือ ให้ดูจากล้อรถยนต์คันหน้าเรา ที่เป็นรถรุ่นและขนาดใกล้เคียงกับเรา ซึ่งเราจะขับรถฝ่าน้ำที่ยังปลอดภัยกับเครื่องยนต์ ก็ต่อเมื่อระดับน้ำสูงไม่เกินครึ่งล้อ เพราะถ้าสูงกว่านั้น แปลว่าน้ำท่วมถึงระดับเครื่องยนต์แล้วนั่นเอง

นอกจากนี้ สิ่งที่ควรระวังเป็นอย่างยิ่ง คือ ไม่ควรขับรถฝ่าน้ำที่ท่วมถึงระดับประตู เพราะ นอกจากทำให้น้ำเข้ามาในห้องโดยสารแล้ว ยังทำให้น้ำเข้าระบบไฟของรถได้ด้วย ซึ่งอาจทำให้ไฟฟ้าลัดวงจรและรถดับได้ เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว หากเราเจอน้ำท่วมขังที่สูงเกินระยะปลอดภัย เราควรหลีกเลี่ยงเส้นทางนั้น ถ้าไม่อย่างนั้นก็ตัดสินใจจอดรถข้างทางแล้วรอน้ำลดจะปลอดภัยที่สุด

เทคนิค 2: ขับรถลุยน้ำอัตราเร่งคงที่ ไม่เร็ว ไม่เร่ง

ถ้าน้ำท่วมอยู่ระดับที่ขับต่อได้ เราควรเพิ่มสติ และขับขี่อย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ ซึ่งก่อนอื่นเลย พี่เซฟแนะนำให้ “ลดความเร็วลง ไม่เร่งเครื่อง และขับด้วยความเร็วคงที่” โดยรถยนต์เกียร์ธรรมดา พี่เซฟแนะนำให้ใช้เกียร์ต่ำ ส่วนเกียร์ออโต้ ให้เลี้ยงอัตราเร่ง (หรือรอบเครื่องยนต์) ให้สม่ำเสมออยู่ที่ประมาณ 1,500-2,000 รอบต่อนาที เพราะถ้าต่ำกว่านี้ อาจทำให้รถดับ หรือถ้าสูงกว่านี้ เครื่องยนต์อาจจะดูดอากาศและน้ำเข้าเครื่องได้

นอกจากนี้ การขับช้า และความเร็วสม่ำเสมอนั้น ไม่ทำให้น้ำกระเด็นไปสาดมอเตอร์ไซค์ รถที่สวน และคนเดินเท้า แถมการขับรถลุยน้ำด้วยความเร็ว รถจะเสียการทรงตัวได้ง่าย และทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้นั่นเอง

เทคนิค 3: เว้นระยะห่างจากรถคันหน้า 2-3 เท่ากว่าปกติ

สิ่งที่พี่เซฟอยากชวนทำก็คือ “เว้นระยะห่างจากรถด้านหน้าให้มากกว่าปกติ” ไม่ต่ำกว่า 50 เมตร หรือ 2-3 เท่ากว่าระยะห่างปกติ เนื่องจากประสิทธิภาพของระบบเบรกที่เปียกน้ำ จะทำงานได้ไม่ดีเท่าเดิม นั่นทำให้ระยะเบรกอาจยาวขึ้น

นอกจากนี้ การเว้นระยะห่าง ยังช่วยป้องกันน้ำสาดกระเด็นจากรถคันหน้า และยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่มากขึ้นอีกด้วย เพราะ สามารถสังเกตจากรถคันหน้า ว่าถนนเป็นหลุมหรือมีสิ่งกีดขวางหรือไม่ ซึ่งการเว้นระยะห่าง ทำให้เราสามารถเตรียมการณ์ หรือหลีกเลี่ยงได้อย่างไม่กระทันหันเกินไป

เทคนิค 4: ปิดแอร์ในรถเมื่อขับลุยน้ำสูงกว่า 10 เซนติเมตร

เทคนิคนี่คือ “ปิดแอร์”ครับ โดยเฉพาะตอนที่ขับฝ่าน้ำที่สูงกว่า 10 เซนติเมตร นั่นเป็นเพราะว่า หากยังเปิดแอร์  ใบพัดลมระบายความร้อนจะยังทำงาน และอาจพัดน้ำ หรือ เศษขยะที่ลอยมากับน้ำ เข้ามาในเครื่องยนต์และระบบไฟฟ้าได้ ซึ่งอาจทำให้น้ำหรือสิ่งสกปรกกระจายไปทั่วห้องเครื่อง และทำให้รถดับ และ เกิดไฟฟ้าลัดวงจร

เทคนิค 5: ห้ามสตาร์ทรถหากรถดับระหว่างลุยน้ำ

นี่อาจเป็นเรื่องที่หลายคนไม่รู้ นั่นก็คือ ถ้าเกิดรถดับระหว่างลุยน้ำ “ห้ามสตาร์ทรถอย่างเด็ดขาด” เพราะว่า การสตาร์ทเครื่องใหม่บนพื้นที่น้ำท่วมสูง จะทำให้น้ำที่ค้างอยู่ในระบบ และน้ำที่ปริ่มใต้ท้องรถ เข้าไปในเครื่องยนต์และระบบไฟฟ้าได้ และยิ่งทำให้เกิดความเสียหายกว่าเดิม

โดยถ้าเกิดเครื่องดับระหว่างฝ่าน้ำขึ้นมาจริง ๆ พี่เซฟแนะนำให้เปิดไฟขอทาง (ไฟสามเหลี่ยม) เพื่อให้สัญญานรถด้านหลังว่ารถเราดับ แล้วเข็นรถไปหลบข้างทาง

เทคนิค 6: ควรขับรถช้า ๆ และทดสอบเบรกก่อน หลังขับพ้นช่วงน้ำท่วม

เมื่อขับรถพ้นช่วงน้ำท่วมขังมาแล้ว พี่เซฟขอย้ำว่า “ยังไม่ควรขับรถเร็วเกินไป” เพราะการขับรถลุยน้ำ ทำให้ผ้าเบรกเปียก ทำให้สูญเสียประสิทธิภาพในการยึดเกาะ หากเราขับเร็วไป และมีเหตุต้องเหยียบเบรกเต็มแรง จะทำให้รถลื่น เสียหลัก และเกิดอุบัติเหตุได้ แนะนำให้ตรวจสอบการใช้งานของระบบเบรก โดยการ “เหยียบเบรกย้ำ ๆ 2-3 ครั้ง” ซึ่งจะช่วยไล่น้ำออกจากระบบเบรก ส่วนรถเกียร์ธรรมดา ควรเหยียบคลัตช์ เพื่อป้องกันการลื่นของคลัตช์

ที่สำคัญการเหยียบเบรกและคลัตช์เพื่อไล่น้ำออกนั้น ควรหาทำเล หรือพื้นที่ที่ปลอดภัยก่อนเพราะหากเราเบรกกระทันหัน อาจทำให้รถคันข้างหลังจิ้มท้ายเอาได้

เทคนิค 7: หลังขับพ้นน้ำท่วมให้ติดเครื่องไว้สักพัก

ต่อมา หลังจากขับรถถึงที่หมายแล้ว สิ่งต้องห้ามอีกอย่าง คือ อย่าเพิ่งดับเครื่องทันที แต่ให้ “ติดเครื่องทิ้งไว้สักพัก” เพราะว่าอาจยังมีน้ำที่ค้างอยู่บริเวณท่อไอเสีย ซึ่งอาจยังมีความชื้นอยู่ในเครื่องยนต์ การติดเครื่องและจอดทิ้งไว้ จะช่วยไล่ความชื้น และทำให้น้ำระเหยออกมานั่นเอง

เรียกว่าเป็นการรวบตึง 7 ข้อ ช่วยเรื่องขับรถลุยน้ำให้ปลอดภัย ทั้งรถทั้งคนเลยนะครับ แต่ความรู้และข้อควรระวังเหล่านี้ จะไม่มีประโยชน์เลย หากทุก ๆ คนไม่มีสติขณะขับขี่ เพราะสติมาปัญญาจะเกิดตามมานั่นเอง ปลอดภัยไว้ก่อนจึงสำคัญที่สุดดดดด!!

ที่มา:

– Mitsu RMA, https://mitsurma.com/tips-for-safety-driving-through-flood-water/

– Safetyinthai, https://www.safetyinthai.com/17136176/6-วิธีขับรถลุยน้ำท่วม  

– 87Garage, https://87-garage.com/9-เทคนิควิธี-ลุยน้ำท่วมอ/

– ไทยรัฐออนไลน์, https://www.thairath.co.th/lifestyle/auto/2517718 

– ประชาชาติ, https://www.prachachat.net/general/news-772299

– มิติชนออนไลน์, https://www.matichon.co.th/economy/auto/news_191138

ติดตามโซเชียลของเราได้ที่

© Copyright 2022 Safe Education Thailand. All rights reserved.