ใบขับขี่จักรยานยนต์ใบแรก…ทำยากไหม?

1,830

ก่อนจะกลายเป็นผู้ขับขี่บนท้องถนนแบบถูกฎหมาย ด่านทดสอบแรกที่ต้องเจอคือ “การทำใบขับขี่!!!” เพื่อบ่งบอกว่าสามารถขับขี่ได้อย่างปลอดภัย เข้าใจกฎจราจร พี่เซฟจะมาบอกว่า“กว่าจะมีใบขับขี่ใบแรก กันได้ ต้องทำยังไงกันบ้างนะ”

1. อายุต้องถึง

จะหัดขับรถตั้งแต่ยังเด็กน้อย หรือมาลองขับตอนวัยรุ่น ไม่ว่าน้อง ๆ จะขับมอเตอร์ไซค์อย่างคล่องแคล่วกันตอนอายุเท่าไหร่ ถ้าอยากทำใบขับขี่ขึ้นมาจริง ๆ ล่ะก็ ก็ต้องรอให้อายุถึงเกณฑ์ตามกฎหมายเสียก่อน ซึ่งอายุที่เราสามารถไปขอยื่นสอบใบขับขี่รถจักรยานยนต์ได้นั้น แบ่งออกเป็นเงื่อนไขได้ 3 แบบ คือ

    • อายุ 15-18 ปี สอบใบขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราวได้ แต่มอเตอร์ไซค์ที่ขับต้องมีความสูบกระบอกไม่เกิน 110 ซีซี
    • อายุ 18 ปีขึ้นไป สอบใบขับขี่รถจักรยายนต์ส่วนบุคคลชั่วคราวได้ทุกรูปแบบ
    • อายุ 20 ปีขึ้นไป ทำใบขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะได้

2. ต้องจองคิวสอบ

ในกรณีที่อบรมกับกรมการขนส่งทางบก ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีคิวอบรมก่อนดำเนินการอื่น ๆ โดยจองคิวอบรมได้ 3 ช่องทาง ได้แก่

    1. จองคิวอบรมด้วยตนเองพร้อมหลักฐานประกอบคำขอ โดยเดินทางไปจองได้ที่สำนักงานกรมการขนส่งทางบกใกล้บ้านของน้อง ๆ ได้เลย
    2. จองคิวอบรมทางโทรศัพท์ผ่านหมายเลข 02-271-8888 ต่อ 4201-4 หรือโทร 1584 *สำหรับผู้ที่จองคิวทางโทรศัพท์ ต้องมาลงทะเบียนในวันที่นัดอบรมก่อนเวลา 08.00 เพื่อทำการทดสอบสมรรถภาพร่างกายก่อนเข้ารับการอบรมนะ
    3. จองคิวทางออนไลน์ จองคิวผ่านแอปฯ DLT Smart Queue ได้เลย ซึ่งน้อง ๆ จะต้องเดินทางมาทางกรมการขนส่งทางบกที่ได้ลงคิวไว้ก่อนเวลา 08.00 น. เหมือนกัน

3. ร่างกายต้องพร้อม

การทดสอบสมรรถภาพร่างกาย เป็นการทดสอบที่สำคัญลำดับแรก ที่คัดกรองผู้ที่มีร่างกายที่พร้อมสำหรับการขับขี่รถบนถนนซึ่งหากน้อง ๆ ทดสอบไม่ผ่านล่ะก็ จะไม่สามารถเข้าสู่ขั้นตอนการอบรม การสอบทฤษฎี และการสอบปฏิบัติ ส่งผลให้ไม่สามารถทำใบขับขี่ได้เลย โดยจะมีการทดสอบทั้งหมด 4 อย่าง ได้แก่

    • ทดสอบการมองเห็นสี ที่จำเป็นในการขับรถ มีเพียง 3 สีเท่านั้น คือ แดง เหลือง เขียว ไม่มีสีอื่น
    • ทดสอบสายตาทางลึก
    • ทดสอบสายตาทางกว้าง
    • ทดสอบปฏิกิริยาเท้า (ความสามารถในการใช้เบรกเท้า)

4. เข้าห้องเรียนแบบ 5 ชั่วโมง

เรียกว่านั่งเรียนกันยาว ๆ เกือบครึ่งวันกันไปเลยสำหรับการอบรม โดยเนื้อหาในการอบรมจะเกี่ยวกับความรู้เกี่ยวกับกฎหมายต่าง ๆ ที่ต้องรู้เกี่ยวกับการจราจร และการขับขี่อย่างปลอดภัย รวมถึงการดูแลรักษารถ เพื่อใช้ในการสอบข้อเขียนต่อไป โดยช่วงท้ายของวิชาเรียนจะมีแบบทดสอบผ่านระบบคอมพิวเตอร์ (E-exam) ด้วยนะ แถมยังทราบผลคะแนนได้ทันทีหลังส่งคำตอบ เรียกได้ว่าเรียนปุ๊บสอบปั๊บกันเลยทีเดียว

5. ทดสอบสุดหิน 5 ด่าน

ด่านที่เรียกว่าอาจจะยากสุดในการสอบใบขับขี่จักรยายนต์เลย ก็คือการทดสอบการขับรถผ่านด่านจราจร เรียกได้ว่าที่เราฝึก ๆ กันก่อนวันสอบเนี่ย จะได้ใช้กันในวันนี้เลย ซึ่งพี่เซฟขอเตือนว่า อย่าประมาทเลยเชียวนะ แม้ว่าการทดสอบจะดูเหมือนง่ายขนาดไหนก็ตาม โดยด่านจราจรที่ว่ามีทั้งหมดดังต่อไปนี้

    • ท่าที่ 1: การขับรถมอเตอร์ไซค์โดยปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจร
    • ท่าที่ 2: การขับรถทรงตัวบนทางแคบ โดยให้ขี่รถมอเตอร์ไซค์ขึ้นไปบนทางแคบ และให้ทรงตัวไว้ไม่ให้เท้าแตะพื้นเป็นเวลา ประมาณ 10 วินาที
    • ท่าที่ 3: การขับรถผ่านทางโค้งรัศมีแคบรูปตัว Z
    • ท่าที่ 4: การขับรถผ่านทางโค้งซ้ายและโค้งขวารูปตัว S
    • ท่าที่ 5: การขับรถหลบหลีกสิ่งกีดขวาง

6. สอบผ่านแล้วไม่ต้องสอบอีก?

ใครที่คิดว่าสอบผ่านแล้ว จะได้ใบขับขี่ไว้ใช้ไปตลอดชีวิตล่ะก็ ต้องคิดใหม่นะ เพราะทุกวันนี้ใบขับขี่จะต้องคอยต่ออายุบัตรอยู่ เรื่อย ๆ เลย โดยหลังจากที่เราได้ใบขับขี่ใบแรกมาแล้ว (ใบแรกจะเป็นใบขับขี่ชั่วคราว) เราก็ต้องมาต่ออายุใบขับขี่เพื่อภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่ทำบัตร เพื่อมาเปลี่ยนเป็นใบขับขี่ทั่วไป ซึ่งน้อง ๆ ก็จะต้องนำใบขับขี่มาคอยต่ออายุทุก ๆ 5 ปีไปเรื่อยๆ แต่ถ้าหากวันไหนน้อง ๆ เกิดลืมต่ออายุใบขับขี่ล่ะก็ จะต้องกลับมาสอบใบขับขี่ใหม่ทั้งหมดเลย ดังนั้น อย่าลืมค่อยต่ออายุใบขับขี่กันด้วยนะ!

ที่มา:

 

#ขับขี่ศึกษา #ความปลอดภัยต้องมาก่อน #safeeducationthai #roadsafety #roadsafetyliteracy

ติดตามโซเชียลของเราได้ที่

© Copyright 2022 Safe Education Thailand. All rights reserved.