ค้นหา

ต่างกันไหม??? หมวกกันน็อกจักรยาน กับหมวกกันน็อกมอเตอร์ไซค์

bike helmet and motorcycle helmet
467

แม้หมวกกันน็อกจะเทอะทะ และอึดอัดบ้าง เวลาสวมใส่ แต่มันก็เป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันการบาดเจ็บที่ศีรษะและลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น แถมช่วยชีวิตคนมานักต่อนักแล้ว พี่เซฟเลยขอย้ำว่า ทุกครั้งไม่ว่าจะขี่หรือซ้อนมอเตอร์ไซค์ ระยะทางใกล้ไกลแค่ไหน ขอให้ใส่หมวกกันน็อกเสมือนอวัยวะที่ 33 เถิดดดด….

บนท้องถนนไม่ได้มีแค่มอเตอร์ไซค์ที่ต้องใช้หมวกกันน็อกนะ ยังมีอีกหนึ่งยานพาหนะ นั่นก็คือ “จักรยาน” ถึงแม้หมวกกันน็อก ทั้ง 2 ประเภท จะมีฟังก์ชันเดียวกันคือสวมศีรษะเพื่อความปลอดภัย แต่จริง ๆ แล้ว หมวกกันน็อกสำหรับคนขี่จักรยาน และ หมวกกันน็อกสำหรับคนขี่มอเตอร์ไซค์ มีความแตกต่างกันอยู่ ว่าแต่ต่างกันตรงไหนบ้าง และหมวกทั้ง 2 ประเภท สามารถใช้แทนกันได้หรือไม่นะ

หมวกกันน็อกสำหรับคนขี่มอเตอร์ไซค์

มาเริ่มต้นที่ “หมวกกันน็อกสำหรับคนขี่มอเตอร์ไซค์” ซึ่งมีหน้าตาหลากหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น หมวกกันน็อกครึ่งใบ หมวกกันน็อกเปิดหน้า หรือ หมวกกันน็อกเต็มใบ โดยหมวกกันน็อกแต่ละแบบนั้น ล้วนออกแบบมาสำหรับคนขี่และคนซ้อนมอเตอร์ไซค์ โดยเฉพาะ ที่สำคัญต้องได้มาตรฐาน มอก. ถ้าให้ดีที่สุดคือการเลือกหมวกเต็มหน้าแบบปิดคาง ซึ่งจะดีกว่าหมวกแบบครึ่งใบหรือหมวกแบบเปิดหน้า ที่สำคัญของการสวมหมวกกันน็อกทุกแบบ ต้องเน้นการคาดสายรัดให้กระชับคางอยู่เสมอ เพราะจะสามารถป้องกันหรือช่วยลดความรุนแรงจากการบาดเจ็บเมื่อเกิดอุบัติเหตุได้ ยกตัวอย่างหมวกกันน็อกที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดีเช่น

  1. หมวกกันน็อกแบบครึ่งใบ ที่ใส่ครอบศีรษะ ปกป้องตั้งแต่หน้าผาก กระโหลกด้านบน ไปจนถึงบริเวณเหนือท้ายทอย เป็นหมวกกันน็อกที่คุ้นตาในบ้านเรามากที่สุด ด้วยเพราะราคาย่อมเยา เพียงหลักร้อยต้น ๆ และหาซื้อได้ทั่วไป
  2. หมวกกันน็อกเปิดหน้า (Open face) ป้องกันศีรษะที่เพิ่มส่วนท้ายทอยเข้าไป พร้อมมีกระจกบังหน้าสำหรับกันลมและเศษวัสดุหมวกกันน็อกแบบเปิดหน้าจึงเป็นหมวกกันน็อกที่ค่อนข้างครบเครื่องและใช้งานได้ยืนหยุ่นสถานการณ์
  3. หมวกกันน็อกเต็มใบ (Full face) ป้องกันดีที่สุด ทนทานที่สุด ออกแบบให้คลอบคลุมทั้งศีรษะไปจนถึงใบหน้า เจาะช่องไว้แค่เพียงเฉพาะจมูกและตาเท่านั้น

หมวกกันน็อกสำหรับคนปั่นจักรยาน

ส่วน “หมวกกันน็อกสำหรับคนปั่นจักรยาน” ถูกออกแบบมาให้มีการไหลเวียนของอากาศได้ดีกว่า และใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบา เนื่องจากจักรยานเป็นยานพาหนะที่ผู้ขี่ต้องออกแรงปั่นเอง น้ำหนักจึงต้องไม่หนักจนเกินไป พร้อมกับลมที่โกรก ช่วยระบายไอร้อนจากร่างกาย และทำให้การออกแรงปั่นจักรยานได้สบายขึ้นนั่นเอง

หมวกกันน็อกสำหรับคนปั่นจักรยานเองก็มีหลายแบบเช่นกันเพื่อให้เหมาะกับการปั่นของแต่ละประเภท แต่หน้าตาก็ไม่ได้ดูต่างกันมาก เพราะนอกจากการป้องกันการบาดเจ็บแล้ว หมวกกันน็อกสำหรับคนปั่นจักรยานยังเน้นความคล่องตัวและการระบายอากาศ เน้นครอบแค่ส่วนครึ่งบนของศีรษะ หรือป้องกันตั้งแต่หน้าผาก กระโหลกด้านบน และกระโหลกด้านหลังเท่านั้น

อย่างไรก็ดี สำหรับการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยของทั้งหมวกกันน็อกคนขี่มอเตอร์ไซค์กับหมวกกันน็อกคนปั่นจักรยานนั้น ถูกทดสอบที่ความเร็วเพียง 20-30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น โดยให้เหตุผลว่ามอเตอร์ไซค์และจักรยานส่วนใหญ่ขับขี่ที่ความเร็วเฉลี่ย 20-30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

แต่ถ้าเราจะมองลึกลงไปในรายละเอียดของความสามารถในการป้องกันการกระแทก ระหว่างหมวกกันน็อกแต่ละประเภทนั้น ป้องกันแรงกระแทกได้มากแค่ไหน พี่เซฟอธิบายง่าย ๆ คือ ถ้าให้คะแนนความสามารถในการป้องกันการกระแทก หมวกกันน็อกมอเตอร์ไซค์จะได้คะแนนตั้งแต่ 100 ขึ้นไป ในขณะที่หมวกกันน็อกจักรยานจะได้คะแนนเพียง 50 – 95 เท่านั้น

จะเห็นว่า หมวกกันน็อกคนขี่มอเตอร์ไซค์มีความสามารถป้องกันแรงกระแทกได้มากกว่าหมวกกันน็อกคนปั่นจักรยานถึง 1 เท่าเลยทีเดียว โดยสรุป ก็คือ หมวกกันน็อกคนขี่มอเตอร์ไซค์ มีความสามารถในการป้องกันการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากศีรษะกระแทกมากกว่า เพราะทั้งหน้าตา วัสดุ และความหนาของหมวกกันน็อกนั้นถูกออกแบบสำหรับความเร็วและแรงกระแทกที่สูงกว่าหมวกกันน็อกจักรยาน

เพราะฉะนั้น คำถามที่ถามว่า คนขี่และคนซ้อนมอเตอร์ไซค์ ใส่หมวกกันน็อกคนปั่นจักรยานแทนได้ไหม คำตอบก็คือ “ไม่ได้และไม่ควรอย่างยิ่ง” เนื่องจากความเร็วของมอเตอร์ไซค์นั้นสูงกว่าของจักรยานและมีความเป็นไปได้สูง ที่อุบัติเหตุจากการขี่มอเตอร์ไซค์จะมีความรุนแรงกว่าด้วยเช่นกัน

สรุปคือ ใส่หมวกกันน็อกให้ถูกประเภท เพราะหมวกกันน็อกแต่ละประเภท ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับการใช้งานมาอย่างดีแล้ว แต่เหนืออื่นใด คือ ขับขี่อย่างมีสติ และอย่าลืมใส่หมวกกันน็อกกันนะครับ เพราะความปลอดภัยมาก่อนเสมอ

ที่มา:

– Helmetslab, https://helmetslab.com/bicycle-helmet-vs-motorcycle-helmet/

– Headdontbounce, https://www.headsdontbounce.com/motorcycle-helmets/bicycle-helmet-for-motorcycle/

ติดตามโซเชียลของเราได้ที่

© Copyright 2022 Safe Education Thailand. All rights reserved.