ค้นหา

7 วิธีซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ให้ปลอดภัยทั้งคนขี่และคนซ้อน

ride on a pillion
932

ทุกวันนี้เวลาเราพูดถึงความปลอดภัยของการขับขี่จักรยานยนต์ เมื่อก่อนเราอาจจะไปเน้นกันที่การปฏิบัติตัวของคนขับกัน ว่าต้องมีมาตรการความปลอดภัยอย่างไรบ้าง แต่ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าความปลอดภัยของการขับขี่ไม่ใช่แค่เรื่องของคนขับขี่เพียงอย่างเดียว แต่มันเกี่ยวข้องกับคนซ้อนด้วย วันนี้พี่เซฟจะมาแนะนำวิธีการนั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์ ที่ชาวเบาะหลังทุกคนต้องรู้ไว้ว่า มันมีอะไรมากกว่าแค่การนั่งเบาะหลังเฉย ๆ

1. หมวกกันน็อก

แม้กระทั่งคนซ้อนก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นของเรื่องนี้ หมวกนิรภัยสำหรับรถจักรยายนต์ให้กับคนซ้อน คือไอเทมพื้นฐานชิ้นสำคัญที่จะช่วยให้การนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ของเรานั้นปลอดภัยยิ่งขึ้น ถ้าเป็นรถจักรยานยนต์รับจ้างอย่างพี่วินหรือไรเดอร์ หลาย ๆ ครั้งจะมีหมวกกันน็อกสำหรับผู้โดยสารมาให้เลย แต่หลายครั้งก็ไม่มี ดังนั้นถ้าน้อง ๆ รู้ว่าการเดินทางในชีวิตประจำวันของตัวเองนั้น จะต้องนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์อยู่เป็นประจำล่ะก็ พี่เซฟแนะนำว่าให้ซื้อหมวกกันน็อกของตัวเองไว้เลย หรือหากคิดว่าน่าจะหาที่เก็บลำบาก ให้ลองเลือกใช้วิธีการเดินทางแบบอื่นที่ปลอดภัยกว่า

2. วางเท้า

อาจจะฟังดูงง ๆ ว่าทำไมวางเท้ายังต้องมีเรื่องให้คิด ก็แค่วางไว้บนที่วางเท้าเฉย ๆ หรือเปล่า? ซึ่งความเป็นจริงคือมันไม่ใช่การแค่การวางเท้าอย่างเดียว แต่มันคือเรื่อง “ตำแหน่ง” วางเท้าด้วยที่สำคัญ โดยสำหรับมอเตอร์ไซค์ การวางเท้าที่ถูกต้องนั้น “ควรวางให้คันเหยียบอยู่ตรงกลางเท้า” เหตุที่ต้องวางเท้าไว้แบบนี้ก็เพราะว่าเวลาที่คนขับเบรกกะทันหัน เราจะได้เทน้ำหนักลงบนที่วางเท้าเพื่อทรงตัวได้พอดี โดยไม่เสียการทรงตัว เพราะถ้าวางเท้าเทข้างหน้าหรือเทหลังมากไปล่ะก็ อาจทำให้เท้าลื่นออกจากที่วางเท้า จนเสียการทรงตัวได้นั่นเอง

3. วางมือ

การหาตำแหน่งวางมือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้การทรงตัวขณะนั่งซ้อนท้ายของเรามีความปลอดภัยมั่นคงมากขึ้น ซึ่งสำหรับคนซ้อน แนะนำว่าให้ใช้มือทั้งสองข้างไว้บนตักขนานลำตัว หรือจับบริเวณเอวของคนขี่ เพื่อสร้างสมดุลให้ร่างกายขณะนั่ง ซึ่งหลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมไม่จับราวเบาะหลังเพื่อความปลอดภัยล่ะ คำตอบก็คือพี่เซฟไม่แนะนำให้ใช้มือจับเบาะเท่าไหร่ เพราะว่าท่านั่งของเราขณะจับมันอาจทำให้ร่างกายเสียสมดุลขณะนั่ง รวมถึงก่อให้เกิดอันตรายจากท่านั่งได้ (นั่งเอามือไพ่หลังจับราวเบาะ)

4. หลังตรง

นั่งตัวตรง หลังตรง ไม่เอนตัวไปข้างหน้าหรือหลังมากเกินไป แต่ ๆ เราสามารถโน้มตัวไปข้างหน้าได้เล็กน้อย หากรู้ว่ารถกำลังจะออกตัว เพื่อลดจังหวะแรงกระชากของรถได้

5. ปล่อยตัวสบาย ไม่เกร็ง

นั่งซ้อนโดยปล่อยให้ร่างกายเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่เกร็ง คงสติกับการซ้อน เพื่อให้รถไม่เสียสมดุล เช่น เราไม่ฝืนตัวหรือเอียงตัวสวนทางกับทางเลี้ยวหรือทางเข้าโค้งของรถ แนะนำให้โน้มตัวไปทางเดียวกับมอเตอร์ไซค์จะดีกว่า และเมื่อรถกำลังเคลื่อนตัวไปข้างหน้า คนซ้อนควรถ่ายน้ำหนักไปที่สะโพก รวมถึงอาจขยับตัวไปด้านหลังเล็กน้อย เพื่อรับแรงเบรกเมื่อหยุดมอเตอร์ไซค์

6. เว้นระยะนั่ง

คนซ้อนไม่ควรนั่งแนบชิดติดกับตัวผู้ขับขี่มากจนเกินไป เพราะทำให้น้ำหนักไม่สมดุล และทำให้ผู้ขับขี่บังคับรถได้ไม่สะดวก แถมยังช่วยลดศีรษะไปประทบกับผู้ขับขี่ตอนเบรกได้ด้วย

7. การสื่อสาร

การขับขี่มอเตอร์ไซค์มีข้อจำกัดเรื่องการสื่อสาร จากสภาพแวดล้อมภายนอก เช่น เสียงลม เสียงรถคันอื่น ๆ หรือหมวกกันน็อก ดังนั้นก่อนออกเดินทาง คนซ้อนกับผู้ขับขี่ควรตกลงวิธีการสื่อสารกันระหว่างขับขี่กันก่อน เช่น การตบไหล่หรือการสะกิด เพื่อให้เข้าใจความหมายของการสื่อสารระหว่างขับขี่ได้

เห็นข้อมูลขั้นตอนและวิธีการนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์กันแบบนี้แล้ว พี่เซฟหวังว่าจะเป็นประโยชน์และช่วยให้การนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ของน้อง ๆ ในครั้งต่อไปมีความปลอดภัยมากขึ้นกว่าที่เคยนะ

ที่มา:

– Check Raka, https://www.checkraka.com/motorcycle/article/125777

– Wongnai, https://www.wongnai.com/articles/4how-to-safe-as-a-pillion-passenger-on-motorbike  

– Boxza Racing, http://bigbike.boxzaracing.com/knowledge/2930  

ติดตามโซเชียลของเราได้ที่

© Copyright 2022 Safe Education Thailand. All rights reserved.