“50 กว่าเปอร์เซ็นต์ของคนที่ตายช่วงสงกรานต์ ตายแถวบ้าน” คุณหมอ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) เล่าให้พี่เซฟฟัง แต่พี่เซฟว่าเรื่องแบบนี้ต้องไม่ save แน่ ๆ เลย
ในช่วง 7 วันอันตราย สงกรานต์เมื่อปีที่แล้ว (ปี 2565) เกิดอุบัติเหตุถึง 1,917 ครั้ง และมีผู้เสียชีวิตถึง 278 คน หรือวันละ 39.7 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กและเยาวชนที่เสียชีวิตถึง 13% และเป็นผู้ใหญ่ที่อายุ 36-60 ปีมากที่สุดถึง 40%
“ไปใกล้ ๆ แค่นี้เอง” คำพูดติดปากที่มักทำให้เกิดอุบัติเหตุ คุณหมอเล่าให้ฟังว่าอุบัติเหตุส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในระแวกบ้าน ซึ่งผู้คนมักเคยชิน และความเคยชินนี้เองที่ทำให้ความระมัดระวังลดน้อยลง
“อุบัติเหตุไม่ได้เป็นแค่เรื่องปัจเจกนะ แต่เกิดจากสภาวะแวดล้อมด้วย อย่างคนไทยถ้าเราใส่หมวกกันน็อกไปเซเว่นหน้าปากซอย คนก็จะถามแล้วจะไปไหน ถ้าบอกไปแค่หน้าปากซอยเขาก็จะบอกว่าทำไมต้องใส่หมวก กลายเป็นประหลาดไป บริบททางสังคมก็มีส่วนในเรื่องความปลอดภัยด้วยเหมือนกัน” พอคุณหมอเล่าพี่เซฟก็ได้แต่พยักหน้าตาม
คุณหมอยังเสริมอีกว่า “โควิดผลกระทบมันชัด พอติดแล้วต้องปิดชุมชน ทำมาหากินไม่ได้ แต่พอเป็นอุบัติเหตุมันเป็นแค่ครอบครัว ไอ้นี่มันเมา มันเลยตาย ไปช่วยมันหน่อยนะงานศพ แต่เราไม่ได้มีความรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของสังคมเลยนะ”
วันนี้พี่เซฟได้ทำความเข้าใจมากขึ้นว่าการเกิดอุบัติเหตุมีจากหลายปัจจัย ทั้งตัวบุคคลที่อาจจะประมาท ตัวเครื่องยนต์ที่อาจจะไม่พร้อมที่ต้องคอยดูแลตลอดเวลา รวมถึงชุมชนหรือสังคมที่ช่วยตักเตือนกันได้ เหมือนตอนที่เราไม่ใส่หน้ากากอนามัยตอนออกจากบ้านช่วงโควิด ถ้าวันไหนพี่เซฟลืมนี่ต้องรีบหาซื้อเลยครับ เหมือนมีรังสีอำมหิตจ้องมองอยู่รอบตัว
อย่างช่วงสงกรานต์นี้ เราก็ช่วยดูแลคนในชุมชนของเราได้ ด้วยการเตือนกันให้สวมหมวกกันน็อก สอนเด็ก ๆ ไม่ให้สาดน้ำใส่ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ หรือไม่ทำให้ตกใจ ถ้าเพื่อนดื่มแล้วห้ามขับขี่เลย หรือจะชวนเพื่อนสังสรรค์แล้วนัดกันนอนค้างเพื่อให้สนุกกันได้เต็มที่อย่างปลอดภัยก็ดูจะเป็นไอเดียที่ดีไม่น้อย
บทความหน้า พี่เซฟจะพาไปดูมาตรการเชิงสังคมที่ช่วยลดอุบัติเหตุของอำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคามกันครับ ว่าจริง ๆ แล้วสังคมที่ดี สังคมที่เกื้อกูลกัน ก็ลดความสูญเสียได้นะ