รู้จักหมวกกันน็อก: ย้อนรอยประวัติศาสตร์นวัตกรรมกันกระแทกแห่งโลกจักรยานยนต์
บนโลกของท้องถนนทุกวันนี้ ของคู่กายที่ไม่ว่าจะไปไหนมาไหนชาวสองล้อจะขาดไปไม่ได้ นั่นก็คือ “หมวกกันน็อก” นั่นเอง อุปกรณ์สำคัญที่พี่เซฟอยากจะชวนให้น้อง ๆ ทุกคนได้รู้จักกันมากขึ้นกว่าที่เคย กว่าจะมาเป็นนวัตกรรมช่วยชีวิตชาวสองล้อให้ปลอดภัยบนถนนได้นั้น ต้องผ่านการกันกระแทกกันมากี่ครั้ง ผ่านการทดลอง และพัฒนากันมากี่หน จนมาเป็นหมวกกันน็อกหน้าตาที่เราคุ้นเคยกัน
จุดเริ่มต้นของหมวกกันน็อกสำหรับมอเตอร์ไซค์นั้นย้อนไปไกลกว่า 100 ปีที่แล้วในปี ค.ศ.1914 ณ สนามแข่งรถจักรยานยนต์บรู๊คแลนด์ (Brookland) ประเทศอังกฤษ เมื่อเจ้าหน้าทางการแพทย์ประจำสนามแข่งรถอย่าง ดร.อีริค การ์ดเนอร์ (Eric Gardner) เริ่มสังเกตว่านักแข่งมักมีอาการบาดเจ็บจากการกระแทกของศีรษะอยู่เป็นประจำ เขาจึงเกิดแนวคิดที่จะผลิตอุปกรณ์ป้องกันขึ้นมา โดยใช้ผ้าใบขึ้นรูปเป็นหมวกหุ้มศีรษะ แม้ว่าการนำไอเดียดังกล่าวไปเสนอต่อบริษัทยานยนต์ของเขาจะถูกปฏิเสธ แต่ภายหลังมันก็ได้รับการผลักดันให้มีการเริ่มต้นใช้อย่างจริงจังในการแข่งขันจักรยานยนต์รายการ Isle of Man’s TT ในปีเดียวกัน ซึ่งทำให้ “หมวกกันน็อกสำหรับจักรยานยนต์” เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกได้ในที่สุด
แม้ว่าการ์ดเนอร์จะประสบความสำเร็จในการทำให้หมวกกันน็อกเป็นที่รู้จัก แต่สิ่งนี้ก็ยังเป็นเรื่องใหม่และไม่คุ้นเคยอย่างมากสำหรับสังคมในเวลานั้น ที่ส่วนใหญ่มองว่าเหมือนพวกเขาสวม “เปลือกหอย” เอาไว้บนศีรษะมากกว่าแทนที่จะเป็นหมวก อีกทั้งการขับขี่จักรยานยนต์ในเวลานั้นการสวมหมวกเพื่อเป็นเครื่องป้องกันศีรษะนั้นดูเป็นเรื่องไม่จำเป็น แต่การสวมเพื่อให้ดูเป็นแฟชั่นดูเป็นเรื่องจริงจังกว่า
แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปหลังเหตุการณ์เสียชีวิตของโทมัส เอ็ดเวิร์ด ลอเรนส์ (T.E. Lawrence) นักการฑูตและนักโบราณคดีชาวอังกฤษในปี ค.ศ.1935 (หรือที่ทุกคนรู้จักในชื่อของ Lawrence of Arabia) จากอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์ ซึ่งในเวลานั้นลอเรนส์ถือว่าเป็นบุคคลสำคัญของสหราชอาณาจักรเป็นอย่างมาก และเมื่อสาเหตุการเสียชีวิตของเขาจากการวินิจฉัยของ ดร.ฮิวส แคนส์ (Huge Cairns) ว่าเกิดจากศีรษะได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ทำให้อุบัติเหตุสุดสลดครั้งนี้ปลุกสังคมเมืองผู้ดีให้เริ่มมาสนใจเรื่องความปลอดภัยจากขับขี่รถจักรยานยนต์อย่างจริงจังขึ้น
หลังจากเสียชีวิตของ ที.อี.ลอเรนส์ ไม่นาน ดร.แคนส์ไม่หยุดเพียงแค่นั้น ศัลยแพทย์ชาวออสเตรเลียผู้นี้ได้ศึกษาอาการบาดเจ็บทางศีรษะจากอุบัติเหตุทางจักรยานยนต์อย่างจริงจัง จนเกิดงานวิจัยที่สามารถต่อยอดจนเกิดการออกแบบหมวกกันน็อกสำหรับทหารสหราชอาณาจักรเพื่อใช้ขนส่งพัสดุและสินค้าได้สำเร็จในปี ค.ศ.1941 ก่อนจะถูกใช้อย่างแพร่หลายตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเจ้าหมวกกันน็อกสไตล์ “ชามพุดดิ้ง” ชิ้นนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “British WW2 Dispatch Riders Motorcycle Helmet” โดยมันถูกออกแบบจากยางและไม้ก๊อกเป็นวัสดุหลัก
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบไปไม่นาน หมวกกันน็อกจึงเริ่มต้นเข้าสู่สมัยใหม่ที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงและสวมใส่ได้อย่างแท้จริง เมื่อชาร์ล เอฟ ลอมบาร์ด (Charles F. Lombard) นักวิจัยจากฐานทัพอากาศสหรัฐอเมริกาได้ผลิตหมวกกันน็อกรูปแบบใหม่ขึ้นมาที่สามารถดูดซับแรงกระแทกได้จริงเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1953 ซึ่งทำให้ รอย ริชเชอร์ (Roy Richter) อดีตนักแข่งรถชาวอเมริกันผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Bell Helmet นำไอเดียของลอมบาร์ดมาร่วมพัฒนาจนเกิดเป็นหมวกกันน็อกสำหรับจักรยานยนต์ในชื่อ Bell 500 ในปี ค.ศ.1954 ก่อนจะพัฒนาหมวกกันน็อกแบบเต็มใบขึ้นเป็นครั้งแรกของบริษัทในชื่อ Bell Star ปี ค.ศ.1963 ซึ่งทั้งสองรุ่นได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว (หมวกกันน็อกทั้งสองรุ่นยังคงเป็นหมวกกันน็อกรุ่นคลาสสิคตลอดกาลของบริษัท Bell จนถึงทุกวันนี้) โดยวิวัฒนาการสำคัญของการผลิตหมวกคือการใช้วัสดุอย่างไฟเบอร์กลาสเพื่อดูดซับแรงกระแทก และโฟมเพื่อความสะดวกสบายในการสวมใส่
ในทศวรรษที่ 1970 สหรัฐอเมริกากลายเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ของโลก ได้มีการออกกฎหมายมาตรฐานความปลอดภัยบนท้องถนน โดยการสวมหมวกกันน็อกขณะขับจักรยานยนต์ ให้ถือว่าเป็น “กฎหมาย” ที่ต้องปฏิบัติตาม ยิ่งไปกว่านั้น ในปี ค.ศ.1966 รัฐสภาได้มีการออกพระราชบัญญัติความปลอดภัยบนทางหลวง ที่ระบุว่ารัฐจะต้องมีกฎหมายหมวกนิรภัยตามท้องถนน เพื่อที่จะได้รับงบสนับสนุนจากรัฐบาลกลางสำหรับการพัฒนาทางคมนาคมในท้องถิ่น ซึ่งทั้งหมดถือเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่ทำให้หมวกกันน็อกได้กลายมาเป็นมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับการขับขี่จักรยานยนต์ของสังคมทั่วไป ก่อนจะเป็นที่แพร่หลายจนถึงปัจจุบันนี้
ทุกวันนี้หมวกกันน็อกได้ยกระดับการผลิตด้วยวัสดุที่ล้ำสมัยขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวัสดุผสมต่าง ๆ โดยเฉพาะการผลิตหมวกกันน็อกระดับสูงที่มีการยกระดับถึงขั้นใช้วัสดุอย่างคาร์บอนไฟเบอร์ (Carbon Fiber) หรือเคฟลาร์ (Kevlar) เข้ามาเป็นส่วนประกอบด้วย อย่างไรก็ตาม มาตรฐานของการผลิตของหมวกกันน็อกในทุกวันนี้ จะเน้นอยู่ 3 หลักสำคัญ คือ น้ำหนักเบา สวมใส่สบาย และช่วยให้เราปลอดภัย
ได้รู้ประวัติศาสตร์ก่อนจะมาเป็นหมวกกันน็อกกันทุกวันนี้แล้ว สะท้อนให้เห็นความสำคัญของการป้องกันศีรษะที่มีมาเนิ่นนาน ว่าแล้วก็หาหมวกกันน็อกมาสวมใส่ทุกครั้งที่ขับขี่ ทั้งคนขี่และคนซ้อนกันนะทุกคน
ที่มา:
- Motocard, https://www.motocard.com/en/blog/planet-biker/uncategorized/the-history-of-the-motorcycle-helmet-and-its-evolution-from-leather-to-carbon-fibre
- Royal College of Surgeons of England, https://www.rcseng.ac.uk/library-and-publications/library/blog/sir-hugh-cairns-and-the-origins-of-the-motorcycle-helmet
- Bell Helmets, https://bellracing.eu/brand-story