บางคนอาจจะบอกว่าตัวเองขี่มอเตอร์ไซค์ได้ตั้งแต่อายุสิบกว่าขวบ แต่กว่าจะขอใบขับขี่ชั่วคราวได้ ก็ต้องรอให้อายุมากกว่า 15 ปีบริบูรณ์เสียก่อน กฎเกณฑ์เหล่านี้ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อกีดกันน้อง ๆ นะครับ แต่เพื่อให้เรามีทักษะที่ถูกต้องในการควบคุมรถ ประเมินสถานการณ์ต่างๆเป็น เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของทุกคน ที่สำคัญพบว่าช่วงอายุ 15-19 ปี เป็นช่วงอายุที่ขับไปชนสูงสุด (พญ.พิมพ์ภา เตชะกมลสุข และ รพ.เครือข่ายเฝ้าระวังการบาดเจ็บที่ร่วมวิจัย 9 แห่ง 2557) มาดูกันว่าวัยไหน เรามีใบขับขี่อะไรกันได้บ้าง?
อายุ 15 ปี เป็นอายุตามกฎหมายที่ผู้ขับขี่สามารถมาสอบใบขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราวได้ แต่จะต้องมีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 110 ซีซี ซึ่งใบขับขี่ชั่วคราวมีอายุเพียง 2 ปีเท่านั้น จะได้มาทบทวนทักษะและกฎจราจรกันบ่อย ๆ
อายุครบ 18 ปี ก็มีสิทธิสอบใบขับขี่รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์แบบชั่วคราวก็ได้ และรถจักรยานยนต์ก็ไม่จำกัดแค่ 110 ซีซีอีกต่อไป ซึ่งใบอนุญาตที่เราได้ครั้งแรกจะยังเป็นแบบชั่วคราวที่มีอายุ 2 ปี และเมื่อใกล้จะครบวันหมดอายุ จะต้องมายื่นเรื่องต่ออายุใบขับขี่กันใหม่ เพื่อเปลี่ยนใบขับขี่จาก 2 ปีเป็น 5 ปี แล้วหลังจากนั้น ในทุก ๆ 5 ปี เราก็จะต้องมาต่อใบขับขี่กันใหม่
อายุครบ 20 ปี เราสามารถสอบใบขับขี่ได้อีกประเภท นั่นคือ ใบขับขี่รถยนต์สาธารณะ ถามว่าทำไมพี่เซฟถึงมาเล่าเรื่องใบขับขี่ประเภทนี้ให้ฟัง ก็เพราะว่าใบขับขี่ประเภทนี้คือใบขับขี่ประจำตัวของเหล่าพี่แท็กซี่ พี่คนขับรถเมล์ พี่วินมอเตอร์ไซค์ คนขับรถขนส่งมวลชนทั้งหลาย ไปจนถึงพี่ Grab นั่นเอง แต่ยกเว้นรถสามล้อที่จะต้องอายุเกิน 22 ปี
และถ้าต้องการสอบใบขับขี่สาธารณะ มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นเจ้าของใบขับขี่ส่วนบุคคลมา ไม่น้อยกว่า 1 ปี จึงจะสอบได้
ทั้ง ๆ ที่รถเหมือนกันแต่ทำไมขับขี่รถสาธารณะเราถึงต้องรอนานนัก ก็เพราะว่าผู้ขับขี่จะต้องรับผิดชอบชีวิตผู้โดยสารเพิ่มขึ้น จึงทำให้ใบขับขี่สาธารณะจะออกให้กับผู้ที่มีทักษะ ศักยภาพในการขับขี่และมีวัยวุฒิในการให้บริการได้ด้วย
จำกันไม่ยากเลยใช่ไหมครับน้อง ๆ กับ 3 เลขนี้ “15 – 18 – 20” เป็นช่วงอายุที่สามารถทำใบขับขี่แต่ละประเภทข้างต้นได้ แม้ว่าน้อง ๆ บางคนอาจจะขับขี่ได้ แต่ถ้าอายุไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนดก็จะไม่สามารถขอรับใบขับขี่ได้ หรือขับออกถนนสาธารณะไม่ได้ หากฝ่าฝืนขับหรือขี่รถโดยไม่มีใบอนุญาตอาจจะโดนโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเลยนะ หรือถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา บริษัทประกันก็จะไม่จ่ายค่าเสียหาย ผู้ปกครองของเราก็จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเต็มๆ และที่สำคัญเพื่อความปลอดภัยของตัวเองและเพื่อนร่วมทาง
ขับขี่ปลอดภัย อย่าลืมทำใบขับขี่กันนะคร๊าบบบบ…
ที่มา: