ประเทศไทยเรามีการใช้รถมอเตอร์ไซค์มากกว่ารถยนต์อีกนะครับ จากข้อมูลการจดทะเบียนยานพาหนะส่วนบุคคลพบว่า เป็นมอเตอร์ไซค์ถึง 52.68% ระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2561-2565 ในขณะที่กว่า 80% อุบัติเหตุทางถนนส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับรถประเภทจักรยานยนต์ และเกิดความสูญเสียส่วนใหญ่กับน้อง ๆ วัยเรียน
พี่เซฟคิดว่าน้องหลายคนน่าจะมีประสบการณ์การขี่มอเตอร์ไซค์ หรือน่าจะเป็นคนที่เคยซ้อนมากับเพื่อน หรืออาจจะเป็นคนซ้อนท้ายผู้ปกครองไปส่งที่โรงเรียน นี่ก็เลยอยากจะพาไปรู้จักกับกฎหมายเกี่ยวกับการซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ของเด็ก ๆ ในต่างประเทศกัน เพราะกฎหมายจราจรนั้นเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยสร้างความปลอดภัยทางถนนยิ่งโดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน มาดูกันว่าแต่ละประเทศกำหนดไว้ว่าอย่างไรบ้าง
- ในแถบยุโรปอย่าง สเปน ออสเตรีย สโลวาเกีย กำหนดให้เด็กที่จะซ้อนมอเตอร์ไซค์ได้ต้องมีอายุ 12 ปีขึ้นไป เพราะว่าเป็นช่วงวัยที่เหยียบที่พักขาถึงพอดี
- ส่วนประเทศโรมาเนียอนุญาตให้เด็กที่จะซ้อนมอเตอร์ไซค์ได้เมื่ออายุมากกว่า 14 ปีขึ้นไปเท่านั้น
- มีอีกหลายประเทศที่ไม่ได้มีการกำหนดอายุผู้ซ้อน แต่มีเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป เช่น
- ประเทศโปแลนด์ แม้จะไม่จำกัดอายุของเด็กที่โดยสาร แต่ผู้ขับขี่จะต้องขับด้วยความเร็วไม่เกิน 40 กม./ชม.
- ประเทศเดนมาร์กก็มีเงื่อนไขละเอียดยิบ หากเด็กโดยสารมอเตอร์ไซค์ที่มีอายุมากกว่า 5 ขวบ จะต้องสวมหมวกกันน็อกและนั่งในที่นั่งพิเศษที่จะต้องมีที่พิงหลังสูงอย่างน้อย 25 เซนติเมตร และมีที่วางขาเฉพาะของเด็กกันไม่ให้ขาเข้าไปเกี่ยวกับล้อจักรยานยนต์ และจะอนุญาตให้นั่งตามที่นั่งผู้ซ้อนท้ายปกติก็ต่อเมื่อเด็กมีความสูงถึง 135 เซนติเมตร
- ในขณะที่หลายรัฐทางฝั่งอเมริกาไม่ได้จำกัดที่อายุเด็ก แต่จำกัดที่ส่วนสูงแทนว่าเด็กที่ซ้อนท้ายได้จะต้องสูงจนวางเท้าบนที่พักขาได้
- สำหรับประเทศไทย เรายังไม่มีการกำหนดอายุ ความสูง หรือความเร็วในการขับขี่มอเตอร์ไซด์หรือผู้โดยสารเด็กไว้อย่างชัดเจน แต่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ออกมาเตือนเด็กอายุต่ำกว่า 2 – 6 ขวบ ไม่ควรนั่งรถจักรยานยนต์ และ นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการชี้แจงถึงความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุของเด็กเล็กว่า สรีระของเด็กเล็กเมื่อประสบอุบัติเหตุทางมอเตอร์ไซค์และไม่สวมใส่หมวกกันน็อก “มีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ใหญ่” เพราะศีรษะของเด็กมีน้ำหนักมาก เมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนอื่นของร่างกาย ลักษณะคล้าย “ลูกแบดมินตัน” เมื่อเด็กกระเด็นจากรถศีรษะจะเป็นส่วนที่พุ่งไปกระแทกเป็นลำดับแรก
เป็นยังไงครับกับกฎหมายในต่างประเทศ รวมทั้งบ้านเราด้วย พี่เซฟว่านะ เราได้เรียนรู้ของประเทศอื่นแล้วเอามาปรับประยุกต์ใช้ในบ้านเราก็ได้นะ เพราะดู ๆ ข้อกำหนดเหล่านี้เป็นการสร้างความปลอดภัยที่เป็นเหตุเป็นผลสำหรับเด็กได้ดีเลยทีเดียว เราทุกคนเองก็ควรมีส่วนร่วมในการดูแลตัวเองกันนะครับ อย่างการสวมหมวกกันน็อกในทุกครั้งที่ขี่หรือซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์เพื่อความปลอดภัย พร้อมกับขับขี่ด้วยความเร็วตามกำหนด หรือแม้แต่การให้เด็กซ้อนท้ายต่อเมื่อเค้าตัวสูงมากพอที่จะวางขาและซ้อนท้ายได้อย่างปลอดภัยแล้วเท่านั้น #อาจดูไม่มีอะไรแต่ยังไงก็ต้องปลอดภัยไว้ก่อน
ที่มา:
– PPTV HD 36, https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/95883
– Amarin Baby & Kids, https://www.amarinbabyandkids.com/health/accident/motorcycle/
– MISSION (Personal Injury Lawyers), https://bit.ly/45YEGRS
– สสส., https://www.thaihealth.or.th/เด็กเล็กนั่งซ้อนมอเตอร/
– FEMA (The Federation of European Motorcyclists’ Associations), https://bit.ly/460P0sj